Mind Analytica

ต้องการคนที่ทำงานเป็นทีม HR จะต้อง recruit อย่างไรให้ได้ทีมที่ดีที่สุด

25 มีนาคม 2565 - เวลาอ่าน 4 นาที
ต้องการคนที่ทำงานเป็นทีม HR จะต้อง recruit อย่างไรให้ได้ทีมที่ดีที่สุด

            การคัดเลือกพนักงานเข้ามาทำงานให้มีประสิทธิผลสูงสุดเป็นเป้าหมายหลักของฝ่ายบุคคลหรือฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource) โดยส่วนใหญ่ การคัคเลือกพนักงานจะมุ่งเน้นไปที่ความรู้ ความชำนาญหรือทักษะของผู้สมัครเป็นหลัก ทำให้ละเลยปัจจัยภายในของผู้สมัครที่มีความสำคัญต่อการทำงานไม่แพ้กัน หนึ่งในตัวแปรทางจิตวิทยาที่ส่งผลต่อผลการปฎิบัติงาน (Job performance) เป็นอย่างมาก คือ แรงจูงใจ (Motivation) จากทฤษฎีความต้องการของ McClelland (1953)

Needs Theory of Motivation in work setting

            McClelland (1953) แบ่งแรงจูงใจของมนุษย์ผ่านความต้องการ 3 รูปแบบ ได้แก่ แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ (Need for achievement) แรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์ (Need for affiliation) และแรงจูงใจใฝ่อำนาจ (Need for dominance)

            บุคคลที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูง (High nAch) ต้องการที่จะทำงานได้ดี อยากใช้ความรู้และความสามารถของตัวเองอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะประสบความสำเร็จ ชอบความยากและความท้าทายในงาน ต้องการเป็นที่หนึ่ง และจะทำงานได้ดีในสภาวะที่มีการแข่งขันสูงมากกว่าการร่วมมือกันทำงาน

            บุคคลที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์สูง (High nAff) ต้องการการยอมรับและการยืนยันคุณค่าจากผู้อื่น ทำให้มีแนวโน้มที่จะยอมตามและสนใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น ชอบอยู่กับผู้คนเพื่อให้ได้มีความเกี่ยวข้องและเป็นที่ยอมรับของกลุ่มทางสังคม ดังนั้น ในการทำงาน บุคคลจึงชอบการทำงานร่วมกันคนอื่นมากกว่าการทำงานคนเดียว ไม่ค่อยแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยอย่างโจ่งแจ้งและมีการพูดคุยอื่นๆนอกเหนือจากเรื่องงานกับเพื่อนร่วมงานด้วย

            บุคคลที่มีแรงจูงใจใฝ่อำนาจสูง (High nDom) ต้องการจะควบคุม มีอิทธิพลเหนือผู้อื่นและรับผิดชอบต่อการกระทำของคนอื่นด้วยเช่นกัน เหมาะกับการทำงานที่ต้องจัดการและสั่งงานคนอื่นในฐานะหัวหน้า ในขณะเดียวกัน ก็หลีกเลี่ยงการทำงานในที่ที่ขาดความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงานหรือที่ที่ไม่สามารถได้ตำแหน่งสูง ๆ ได้

            จะเห็นได้ว่า บุคคลที่มีแรงจูงใจที่แตกต่างกันจะมีความชอบและความพึ่งพอใจในการทำงานที่แตกต่างกันไปด้วย ดังนั้น เพื่อให้ได้ผลลัพท์ที่ดีต่อองค์กรสูงสุด การคัดเลือกพนักงานผ่านการวัดแรงจูงใจเพื่อจัดสรรตำแหน่งที่เหมาะสมให้จึงเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้การดูความสามารถของผู้สมัคร

            ถัดมา เราจะมาพูดถึงบทบาทในการทำงานที่เหมาะสมกับคนที่มีแรงจูงใจแต่ละแบบกันว่าบทบาทใดเหมาะสมกับแรงจูงใจแบบไหนมากที่สุด

Team role based on Needs Theory

            Driskell และคณะ (2017) ทำการแบ่งบทบาทของคนในกลุ่มออกเป็น 13 บทบาทที่มีความแตกต่างกันในพฤติกรรมการทำงานกลุ่ม 3 ด้าน อันได้แก่ ด้านการมุ่งงาน (Task orientation) ด้านสังคม (Sociability) และด้านอำนาจ (Dominance)

            เมื่อนำพฤติกรรมการทำงานกลุ่มทั้ง 3 ด้านเปรียบเทียบกับทฤษฎีความต้องการของ McClelland จะพบว่ามีความสอดคล้องอยู่พอสมควร บุคคลที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูงที่ต้องการจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานจะมีความจริงจังและมีความรับผิดชอบในการทำงานที่สอดคล้องกับพฤติกรรมด้านการมุ่งงาน และด้วยเหตุผลทำนองเดียวกัน บุคคลที่มีบุคคลที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์สูงที่ต้องการการยอมรับจากผู้อื่นก็มีแนวโน้มจะแสดงพฤติกรรมด้านสังคมสูง คือการเข้าสังคม สนใจใส่ใจคนรอบข้างและเข้าหาพูดคุยกับผู้อื่น สุดท้าย บุคคลที่มีแรงจูงใจใฝ่อำนาจสูงต้องการแสดงออกถึงอำนาจและได้ควบคุมสิ่งต่างๆตามพฤติกรรมด้านอำนาจ จึงสรุปและอนุมานได้ว่า แรงจูงใจทั้งสามน่าจะใช้ในการทำนายหรือคาดเดาได้ว่าบุคคลจะเลือกตำแหน่งงานหรือทำงานได้ดีในตำแหน่งงานตามคำอธิบายของพฤติกรรมทั้ง 3 ด้าน เช่น คนที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูงน่าจะมีความชื่นชอบและเหมาะสมกับตำแหน่งการทำงานที่มีด้านการมุ่งงานสูงในการทำงานกลุ่ม

Task OrientationSociabilityDominance
Need for achievementNeed for affiliationNeed for dominanceหน้าที่
Team leader+0+ตัดสินใจและสั่งงาน
Task motivator00++ให้กำลังใจคนทำงาน
Power seeker0-+แสวงหาและแสดงอำนาจ
Critic----0คัดค้านความคิดเห็น
Attention seeker-00เรียกร้องความสนใจ
Negative---อู้งาน ไม่ทำงาน
Social0+0สื่อสารกับคนในกลุ่ม
Coordinator+++0ประสานงาน, รวมงานของทุกคน
Follower0++-ทำงานตามคำสั่ง
Teamwork support+0-สนับสนุน (งาน)
Evaluator+-0ประเมินผลการทำงาน
Problem solver++00วิเคราะห์และแก้ปัญหา
Task completer+00ทำงานให้เสร็จ
หมายเหตุ.  + หมายถึง มีคะแนนสูง, o หมายถึง มีคะแนนปานกลาง, - หมายถึง มีคะแนนต่ำ

            จากตารางบทบาทหน้าที่ในกลุ่มการทำงานตามการแบ่งของ Driskell และคณะ (2017) ได้มีการแบ่งคุณลักษณะหน้าที่ของแต่ละบทบาทตามทฤษฎีความต้องการ ดังนี้

            บทบาทที่มีความเกี่ยวข้องกับแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ได้แก่ หัวหน้ากลุ่ม (Team Leader) ผู้ประสานงาน (Coordinator) ผู้สนับสนุนกลุ่ม (Teamwork Support) ผู้ประเมิน (Evaluator) ผู้แก้ปัญหา (Problem Solver) และผู้สำเร็จงาน (Task Completer) จะเห็นได้ว่า บทบาทที่กล่าวไปเป็นบทบาทที่มีหน้าที่สำคัญและจุดประสงค์ที่ชัดเจนในการทำงานกลุ่มให้ประสบความสำเร็จโดยตรง ดังนั้น จึงเป็นบทบาทที่ต้องการบุคคลที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูงที่มีความรับผิดชอบในหน้าที่และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            บทบาทที่มีความเกี่ยวข้องกับแรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์ ได้แก่ ผู้ประสานงาน (Coordinator) นักสังคม (Social) และผู้ตาม (Follower) เป็นบทบาทที่ต้องมีการปฎิสัมพันธ์กับคนอื่น ทั้งคนในทีมและคนนอกทีม จึงต้องการคนที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์สูงที่มีความกระตือลือร้นในการเข้าหาคนอื่นก่อน และชื่นชอบการเข้าสังคม

            บทบาทที่มีความเกี่ยวข้องกับแรงจูงใจใฝ่อำนาจ ได้แก่ หัวหน้ากลุ่ม (Team Leader) และ ผู้สร้างแรงจูงใจในการทำงาน (Task Motivator) เป็นบทบาทที่มีการแสดงอำนาจสูง ซึ่งอาจเป็นการสั่งงาน การชักจูงและแสดงความเป็นผู้นำให้สมาชิกทำตามที่ต้องการ บุคคลที่มีแรงจูงใจใฝ่อำนาจสูงจึงมีแนวโน้มจะเหมาะกับบทบาทเหล่านี้

            นอกจากนี้ ยังมีบทบาทที่อาจมีผลเสียต่อการทำงานในกลุ่มและองค์กรที่ควรพึงระวังไว้ด้วย ได้แก่ ผู้แสวงหาอำนาจ (Power Seeker) นักวิจารณ์ (Critic) ผู้เรียกร้องความสนใจ (Attention Seeker) และคนติดลบ (Negative) ที่มีแรงจูงใจด้านใดด้านหนึ่งในสามด้านที่ต่ำ ส่งผลให้บุคคลในบทบาทเหล่านี้มีพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อการทำงาน เช่น แสวงหาและแสดงอำนาจ คัดค้านความคิดเห็น เรียกร้องความสนใจ อู้งาน ไม่ทำงาน เป็นต้น

ผู้เขียน

MindAnalytica Team

MindAnalytica Team

เรื่องที่คุณอาจสนใจ