Mind Analytica

คนแต่ละคนมีศักยภาพในการเรียนรู้แตกต่างกัน HR จะรู้ได้อย่างไร

25 มีนาคม 2565 - เวลาอ่าน 2 นาที
คนแต่ละคนมีศักยภาพในการเรียนรู้แตกต่างกัน HR จะรู้ได้อย่างไร

Key Takeaways

  • คนแต่ละคนมีระดับในการได้มาซึ่งทักษะที่แตกต่างกันโดยขึ้นอยู่กับระดับความสามารถทางปัญญา
  • ความสามารถทางปัญญามี 3 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 ความสามารถทางปัญญาจำเพาะด้าน ระดับที่ 2 ความสามารถทางปัญญาแบบกว้าง และระดับที่ 3 ความสามารถทางปัญญาโดยทั่วไป
  • ความสามารถทางปัญญาระดับที่ 2 และ 3 เท่านั้นที่สามารถบ่งบอกระดับการได้มาซึ่งทักษะของบุคคล
  • ความจำระยะสั้นหรือความจำขณะทำงานสามารถบ่งบอกระดับการได้มาซึ่งทักษะของบุคคลสูงถึง 3 ใน 4 ของความสามารถทางปัญญาโดยทั่วไป

            ในโลกของการทำงานนั้นทักษะหรือ skill เป็นสิ่งที่แสดงออกให้เห็นว่าพนักงานคนหนึ่งมีศักยภาพในการที่จะพาองค์กรไปสู่เป้าหมายได้มากน้อยในระดับใด ผู้ที่ทำหน้าที่ประเมินทักษะและคัดเลือกพนักงานไม่ใช่ใครอื่นนอกจากฝ่ายทรัพยากรมนุษย์หรือ HR (Human Resource) บางครั้งการประเมินทักษะตั้งแต่ในขั้นคัดเลือกอาจจะทำให้องค์กรได้มาซึ่งบุคคลที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการ แต่ในหลาย ๆ ครั้งจะพบว่าทักษะบางอย่างนั้นไม่สามารถวัดได้ตั้งแต่ต้น เพราะทักษะบางอย่างเกิดจากการเรียนรู้และได้มาระหว่างทำงาน HR ในหลายบริษัทจึงเลือกที่จะเฟ้นหาบุคลากรผ่านการประเมินศักยภาพในการเรียนรู้

HR จะสามารถประเมินศักยภาพในการเรียนรู้ได้อย่างไร

  1. ความสามารถทางปัญญาโดยทั่วไป (General intelligence)
  2. ความเร็วในการรับรู้ (Perceptual speed)
  3. ความเร็วทางทักษะพิสัย (Psychomotor speed)

            อ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ ทำความเข้าใจเบื้องลึกเบื้องหลังของกระบวนการเรียนรู้ skill ของมนุษย์

            โดยที่ความเร็วทางทักษะพิสัยนั้นอธิบายด้วยความเร็วของในการทำทักษะบางอย่างซึ่งผ่านการฝึกฝนมาอย่างยาวนานหรือเรียกได้ว่าเมื่อบุคคลที่มีทักษะใดทักษะหนึ่งติดตัวอยู่แล้ว HR จะสามารถวัดได้ผ่านทักษะพิสัยนี้โดยตรงด้วยการวัดทักษะประเภทต่าง ๆ เช่น ทักษะทางคอมพิวเตอร์ ทักษะการคำนวณ หรือการใช้ portfolio ของผู้สมัครเป็นตัวช่วยเพื่อให้รู้ระดับของทักษะของผู้สมัคร

            ในอีกกรณีหนึ่งถ้าหาก HR ต้องการบุคลากรที่มีความศักยภาพในการเรียนรู้ทักษะบางอย่างในอนาคตเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างใด ๆ ขององค์กร HR จึงควรพิจารณาคัดเลือกบุคลากรผ่านการประเมินความสามารถทางปัญญาโดยทั่วไปรวมไปถึงความเร็วในการรับรู้

            มีงานวิจัยจำนวนไม่น้อยที่แสดงให้เห็นว่าความสามารถทางปัญญาโดยทั่วไปนั้นสามารถบ่งบอกระดับการได้มาซึ่งทักษะของบุคคล อย่างเช่น งานวิจัยของ David Oakes และคณะในปีค.ศ. 2001 ที่วัดผลการฝึกในนักเรียนฝึกควบคุมการบิน หรืองานวิจัยของ Sankaran Nair และคณะในปีค.ศ. 2007 ที่วัดการเรียนรู้ทักษะการใช้คอมพิวเตอร์

การประเมินความสามารถทางปัญญาโดยทั่วไป

ความสามารถทางปัญญาโดยทั่วไป คือศักยภาพที่อยู่เบื้องหลังการประมวลผลข้อมูลของมนุษย์ในหลายรูปแบบและสถานการณ์ ความสามารถทางปัญญาของมนุษย์สามารถแบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 ระดับ ได้แก่

  • ระดับที่ 1 (Stratum I) ความสามารถทางปัญญาจำเพาะด้าน (Narrow หรือ Specific cognitive abilities) อย่างเช่น การอ่าน การสะกดคำ การสร้างประโยค เป็นต้น
  • ระดับที่ 2 (Stratum II) ความสามารถทางปัญญาแบบกว้าง (Broad cognitive abilities) เป็นความสามารถที่ซับซ้อนขึ้นเกิดจากการประกอบกันของความสามารถทางปัญญาระดับที่ 1 งานวิจัยของ Nair และคณะในปีค.ศ. 2007 แสดงให้เห็นว่าความสามารถทางปัญญาระดับที่ 2 ได้แก่ ความฉลาดแบบของไหล (Fluid intelligence) ความฉลาดทางการคำนวณ ความฉลาดทางการใช้ภาษา ความฉลาดทางรูปภาพ รวมไปถึงความจำระยะสั้นหรือความจำขณะทำงาน (Working memory)
  • ระดับที่ 3 (Stratum III) ความสามารถทางปัญญาโดยทั่วไป ซึ่งมักจะได้รับการประเมินผ่านการคำนวณความสามารถทางปัญญาในระดับที่ 2 หลาย ๆ ด้านเข้าด้วยกัน อย่างเช่น การให้เหตุผลเชิงนามธรรม (Abstract Reasoning) หรือเครื่องมือการประเมินความสามารถทางปัญญาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือแบบประเมิน IQ ต่าง ๆ

            อย่างไรก็ตามการประเมินความสามารถทางปัญญาในระดับที่ 1 ไม่สามารถบ่งบอกระดับการได้มาซึ่งทักษะของบุคคล โดยทั่วไปหลายบริษัทจึงเลือกที่จะใช้การประเมินความสามารถทางปัญญาในระดับที่ 2 และระดับที่ 3

ความจำระยะสั้นหรือความจำขณะทำงานสามารถบอกระดับการได้มาซึ่งทักษะ

            ความจำขณะทำงาน (Working memory) เป็นอีกหนึ่งความสามารถทางปัญญาในระดับที่ 2 ซึ่งมีงานวิจัยจำนวนหนึ่งแสดงให้เห็นว่าความจำระยะสั้นบ่งบอกระดับการได้มาซึ่งทักษะของบุคคล โดยงานวิจัยของ Richard Perlow และคณะในปีค.ศ. 1997 พบว่าความจำระยะสั้นนั้นสามารถบ่งบอกระดับการได้มาซึ่งทักษะของบุคคลสูงถึง 3 ใน 4 ของความสามารถทางปัญญาโดยทั่วไปเลยทีเดียว นอกจากนี้ความจำขณะทำงานยังมีส่วนเกี่ยวข้องในขั้นกระบวนการ (Procedural stage) ซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายของกระบวนการได้มาซึ่งทักษะอีกด้วย (Woltz, 1988)

            ความจำระยะสั้นสามารถแบ่งได้เป็นหลายมิติและสามารประเมินได้หลากหลายวิธี อย่างเช่น ความจำระยะสั้นประเภทคำพูด ตัวเลข หรือรูปภาพ ซึ่งประเมินผ่านการระลึก (Recall) ถึงสิ่งที่ได้ยินหรือได้เห็นไปก่อนหน้านี้ หรือการจดจำได้เมื่อได้ยินหรือเห็นสิ่งเดิม (Recognition)

            ถ้าหากคุณอยากรู้ว่าคุณมีระดับของความจระยะสั้นหรือความจำขณะทำงานสู่งแค่ไหนเมื่อเปรียบเทียบกับผู้เข้าร่วมการทดสอบคนอื่น ๆ สามารถทดสอบผ่านแบบประเมินความจำที่ผลิตขึ้นโดย Mind Analytica ได้เร็ว ๆ นี้

            นอกจากนี้ทาง Mind Analytica ยังมีข้อเสนอพิเศษสำหรับองค์กรที่ต้องการจะประเมิน working memory รวมไปถึงความสามารถทางปัญญาด้านต่าง ๆ ของพนักงานหรือผู้สมัครงาน หากสนใจสามารถติดต่อได้ทาง probability.company@gmail.com

ผู้เขียน

MindAnalytica Team

MindAnalytica Team

เรื่องที่คุณอาจสนใจ