Mind Analytica

ตัวแปรส่งผ่าน (Mediator) ตัวกลางในการอธิบายว่าเพราะอะไรตัวแปรต้นจึงทำให้เกิดตัวแปรตาม

29 พฤษภาคม 2566 - เวลาอ่าน 1 นาที
ตัวแปรส่งผ่าน (Mediator) ตัวกลางในการอธิบายว่าเพราะอะไรตัวแปรต้นจึงทำให้เกิดตัวแปรตาม

ในชีวิตประจำวันอาจพบกับตัวอย่างของ ตัวแปรส่งผ่าน ได้อย่างทั่วไป ยกตัวอย่างจากสถานการณ์ปัจจุบัน โรคลมร้อน (Heat stroke) ซึ่งเป็นอาการที่บุคคลได้รับความร้อนสูงจนร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกได้นำไปสู่การเสียชีวิต สาเหตุที่บุคคลที่รับความร้อนรุนแรงในระดับที่ไม่สามารถระบายได้จึงส่งผลต่อชีวิต ในทางการแพทย์อธิบายด้วยอีกหนึ่งสาเหตุตัวกลางคือ เมื่อร่างกายได้รับความร้อนในปริมาณมากส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะภายในบางอย่างให้หยุดทำงาน จากนั้นเมื่ออวัยวะดังกล่าวหยุดทำงานและขาดการรักษาอย่างทันท่วงที จึงนำไปสู่การเสียชีวิตได้ กระบวนการดังกล่าวเป็นตัวอย่างให้เห็นคำอธิบายถึงสาเหตุที่ตัวแปรหนึ่ง จึงส่งผลให้เกิดอีกตัวแปรหนึ่ง ซึ่งสามารถเรียกได้ว่า การวิเคราะห์ตัวแปรส่งผ่าน

กระบวนการส่งผ่าน (Mediation Model) เกิดจากความสัมพันธ์เชิงสาเหตุระหว่างสองตัวแปร เช่น การรับความร้อนสูง ที่เป็นมีตัวแปรต้น (Independent variable) ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตซึ่งเป็นตัวแปรตาม (Dependent Variable) ตัวแปรส่งผ่านคือตัวแปรที่ใช้ในการอธิบายสาเหตุที่ตัวแปรต้นจึงนำไปสู่การเกิดขึ้นของตัวแปรตาม กล่าวคือ ตัวแปรต้นเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดตัวแปรส่งผ่าน และตัวแปรส่งผ่านเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดตัวแปรตามตามลำดับ จากตัวอย่างในกรณีนี้ การรับความร้อนสูงส่งผลให้อวัยวะล้มเหลว และอวัยวะล้มเหลวนำไปสู่การเสียชีวิต สามารถกล่าวได้ว่า โรคลมร้อนเป็นตัวแปรต้น ส่งผลต่อตัวแปรตามคือการเสียชีวิต ด้วยคำอธิบายจากตัวแปรส่งผ่านคือภาวะอวัยวะล้มเหลว

อีกตัวอย่างของตัวแปรส่งผ่าน เช่น เพราะอะไรบุคคลที่มีเชาวน์ปัญญา (IQ) สูงจึงมีผลการปฏิบัติงานดี ตัวแปรส่งผ่านที่อาจเป็นไปได้ คือ ความสามารถในการปรับตัวและเรียนรู้ บุคคลที่มี IQ สูง นำไปสู่ความสามารถในการเรียนรู้งานใหม่และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้ดี ส่งผลให้มีผลการปฏิบัติงานที่ดีกว่าบุคคลที่มี IQ ระดับปานกลาง ซึ่งส่งผลต่อระยะเวลาในการปรับตัวที่มากขึ้น และนำไปสู่ต่อผลการปฏิบัติงานที่แตกต่างต่างจากอีกกลุ่มหนึ่ง จากตัวอย่างนี้สามารถกล่าวได้ว่า ตัวแปรต้นคือ ระดับ IQ ส่งผลต่อตัวแปรตามคือผลการปฏิบัติงาน โดยมีตัวแปรส่งผ่านคือความสามารถในการปรับตัว

ตัวแปรส่งผ่านสามารถมีพร้อมกันได้มากกว่าหนึ่งตัวแปร เช่น บทบาทที่ไม่ชัดเจนในการทำงาน ส่งผลต่อภาวะหมดไฟในการทำงาน (Job burnout) ตัวแปรส่งผ่านที่สามารถอธิบายมีด้วยกันหลายตัวแปร เช่น บทบาทที่ไม่ชัดเจน ส่งผลต่อภาวะความเครียด เพราะพนักงานไม่รู้ว่าต้องทำงานอะไรบ้าง นำไปสู่การซ้อนทับภาระงานของพนักงานคนอื่น และส่งผลต่อความพึงพอใจจากหัวหน้าหรือไม่ เมื่อเกิดภาวะความเครียดจึงนำไปสู่การเกิดขึ้นของภาวะหมดไฟในการทำงาน

อีกคำอธิบายหนึ่ง คือ บทบาทที่ไม่ชัดเจน ส่งผลต่อภาวะการรับรู้ความสามารถของตนเอง (Self-efficacy) ในระดับต่ำ เพราะบทบาทที่ไม่ชัดเจน ส่งผลต่อความสับสนในหน้าที่ของตนเอง นำไปสู่ความมั่นใจในตนเองในระดับต่ำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรับรู้ความสามารถของตนเองในระดับต่ำเป็นผลตามมา ส่งผลต่อการกดดันตนเอง และนำไปสู่ภาวะหมดไฟในท้ายที่สุดในการทำงาน จากตัวอย่างนี้สามารถสรุปได้ว่า ตัวแปรอิสระคือบทบาทที่ไม่ชัดเจนในการทำงาน ตัวแปรส่งผ่านมีสองตัวแปร คือ ความเครียดและการรับรู้ความสามารถของตนเอง และตัวแปรตามคือภาวะหมดไฟในการทำงาน

ในการศึกษาตัวแปรส่งผ่านนักสถิติและนักวิจัยใช้การวิเคราะห์โมเดลส่งผ่านหรือโมเดลส่งผ่านแบบถูกกำกับ (Moderated mediator) โดยทั่วไป ใช้ชุดคำสั่ง process ที่พัฒนาโดย Andrew Hayes และคณะ โดยนำชุดคำสั่งนี้ไปใช้ร่วมกับโปรแกรมวิเคราะห์สถิติที่ได้รับความนิยมในนักสถิติ เช่น SPSS, SAS, หรือ R นอกจากนี้ยังสามารถใช้สถิติขั้นสูงในการวิเคราะห์ตัวแปรส่งผ่าน อย่างเช่น โมเดลสมการเชิงโครงสร้าง (Structrual Equation Model) ในการเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรทั้งหมด

ในประเทศไทยยังมีแหล่งการเรียนรู้ทางสถิติสำหรับบุคลทั่วไปที่ให้ความรู้เกี่ยวกับตัวแปรส่งผ่านและสถิติขั้นกลางและสูงอยู่มากมายบนสื่อออนไลน์ หนึ่งในนั้นคือทีมงานและ CEO ของ MindAnalytica อ. สันทัด พรประเสริฐมานิต ซึ่งเป็นอาจารย์พิเศษทางด้านสถิติประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านเว็บไซต์ https://sunthud.com/ หนึ่งในบทเรียนมีการกล่าวครอบคลุมถึงการวิเคราะห์ถดถอยที่เป็นพื้นฐานของการวิเคราะห์โมเดลส่งผ่าน จนเข้าสู่สถิติขั้นกลางด้วยเทคนิคการวิเคราะห์โมเดลส่งผ่าน เพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าใจตัวแปรส่งผ่านจากพื้นฐานไปสู่ขั้นที่สูงขึ้นไปได้อย่างง่ายที่สุด

ผู้เขียน

MindAnalytica Team

MindAnalytica Team

เรื่องที่คุณอาจสนใจ