การให้ของขวัญมีประโยชน์อย่างไรในทางจิตวิทยา
25 ธันวาคม 2567 - เวลาอ่าน 2 นาทีของขวัญในรูปเงิน วัตถุ และประสบการณ์
ในช่วงปลายปีที่ผู้คนกำลังรู้สึกถึงความอบอุ่นและสนุกสนานกับการได้ใช้เวลาร่วมกับเพื่อนฝูงและคนสำคัญของขวัญจึงเป็นหนึ่งสิ่งที่แสดงออกถึงความห่วงใยและมีความหมายทั้งกับผู้ให้และผู้รับทั้ง นอกจากนี้ของขวัญยังมีประโยชน์อย่างมากทั้งในด้านการส่งเสริมความสัมพันธ์และการทำงาน บทความนี้จะเป็นการรวบรวมประโยชน์หลากหลายด้านของการให้ของขวัญในมุมมองทางจิตวิทยา
ของขวัญที่เป็นวัตถุกับของขวัญที่เป็นประสบการณ์อะไรส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้และผู้รับมากกว่ากัน
Cindy Chan อาจารย์จาก University of Toronto ประเทศแคนาดาและ Cassie Mogilner อาจารย์จาก University of California ได้ทำการศึกษาว่าการให้ของขวัญเป็นวัตถุกับของขวัญในรูปแบบประสบการณ์แบบใดส่งผลต่อความสัมพันธืระหว่างผู้ให้กับผู้รับมากกว่ากัน
ในการทดลองขั้นแรกผู้เข้าร่วมการทดลองจำนวน 118 คน ได้รับเงินจำนวนประมาณ 512 บาท (15 ดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อซื้อของขวัญให้กับเพื่อนของตน โดยกลุ่มที่หนึ่งได้รับคำสั่งให้ซื้อของขวัญในรูปแบบประสบการณ์ซึ่งหมายถึงของขวัญที่ผู้รับจะสามารถเข้าร่วมหรือรับชมกิจกรรมบางอย่างได้ อย่างเช่น คอร์สออกกำลังกายหรือตั๋วชมภาพยนตร์ ส่วนของขวัญที่เป็นวัตถุหมายถึงของขวัญที่ผู้รับสามารถเก็บไว้กับตัวได้ อย่างเช่น เสื้อ โปสเตอร์ หรือเครื่องรินไวน์ ผลการทดลองพบว่าผู้ที่ได้รับของขวัญในรูปแบบประสบการณ์มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับผู้ให้เพิ่มขึ้นสูงกว่าผู้ที่ได้รับของขวัญที่เป็นวัตถุ
ในการทดลองขั้นที่สองถึงแม้ว่าจะมอบของขวัญที่เป็นวัตถุ อย่างเช่น แก้วกาแฟ แต่ด้วยการวางกรอบให้ผู้รับสามารถรับรู้ถึงประสบการณ์จากการใช้งานจะยังส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้และผู้รับหรือไม่ จากผู้เข้าร่วมการทดลองจำนวน 200 คน กลุ่มที่หนึ่งได้รับมอบหมายให้มอบแก้วกาแฟที่มีข้อความว่า “ช่วงเวลาดื่มกาแฟของฉัน” (my coffee time) ให้กับเพื่อนของตนซึ่งบ่งบอกถึงประสบการณ์จากการใช้งานแก้วกาแฟ กับอีกกลุ่มหนึ่งที่จะต้องมอบแก้วกาแฟที่มีข้อความว่า “แก้วกาแฟของฉัน” (my coffee mug) ให้กับเพื่อนซึ่งเน้นความเป็นเจ้าของแก้วกาแฟมากกว่า ผลการทดลองพบว่าผู้รับแก้วกาแฟที่มีข้อความเน้นประสบการณ์มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นสูงขึ้นกว่าผู้ที่ได้รับแก้วกาแฟที่เน้นความเป็นเจ้าของ
ในการทดลองขั้นที่สามต้องการที่จะศึกษาว่าอะไรเป็นปัจจัยระหว่างกลางที่ช่วยส่งเสริมการให้ของขวัญในรูปแบบประสบการณ์มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้กับผู้รับ โดยหนึ่งในตัวกลางนั้นอาจจะเป็นอารมณ์ความรู้สึกระหว่างการได้ใช้งานและมีประสบการณ์กับของขวัญนั้น จากผู้เข้าร่วมการทดลองจำนวน 534 คน ได้นึกถึงเหตุการณ์ที่ความรู้สึกในอดีตระหว่างใช้งานของขวัญที่ได้รับมา ผลพบว่าของขวัญในรูปแบบประสบการณ์สามารถส่งผลให้เกิดความรู้สึกดีระหว่างการใช้งานและนำไปสู่ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นระหว่างผู้ให้และผู้รับ
ในการทดลองขั้นที่สุดท้ายจึงได้ทำการศึกษาว่าในทางกลับกันหากเป็นของขวัญที่เป็นวัตถุที่สามารถทำให้เกิดความรู้สึกดีจะสามารถทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้และผู้รับแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นเหมือนกับของขวัญในรูปแบบประสบการณ์หรือไม่ จากผู้เข้าร่วมการทดลองจำนวน 1,042 คน พบว่าของขวัญประเภทเครื่องประดับที่ระลึกถึงวันสำคัญ อย่างเช่น วันหมั้น วันแต่งงาน วันเกิด หรือวันรับปริญญา หรือแม้กระทั่งของขวัญที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น และรูปภาพ สามารถที่จะทำให้เกิดความรู้สึกดีต่อผู้รับและยังส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
จากงานวิจัยทั้งสี่ขั้นแสดงให้เห็นถึงข้อดีของการให้ของขวัญในรูปแบบประสบการณ์ไม่ว่าจะเป็นการทำกิจกรรมทางกายหรือการรับชมภาพยนตร์ที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้และผู้รับอันเนื่องมาจากความรู้สึกดีที่เกิดขึ้นระหว่างการทำกิจกรรม ในขณะเดียวกันถึงแม้ว่าจะเป็นของขวัญในรูปวัตถุยังสามารถที่จะทำให้เกิดความรู้สึกดีได้เช่นกันผ่านการให้ของที่ระลึกเหตุการณ์และความหมายอันลึกซึ้งแก่ผู้รับ
การให้ของขวัญกับบุคลากรในที่ทำงานจะส่งผลต่อการมีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้นหรือไม่
ในบริบทของการทำงานถึงแม้ว่าการให้ของขวัญจะดูเป็นธรรมเนียมปกติในหลายองค์กรแต่การมอบของขวัญให้กับบุคลากรยังมีประโยชน์ในแง่ของการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้วยเช่นกัน
Sebastian Kube อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมจาก University of Bonn ประเทศเยอรมนี และคณะได้ทำการศึกษาว่าประเภทของขวัญที่มอบให้กับบุคลากรในองค์กรส่งผลต่อประสิทธิภาพของการทำงานหรือไม่ โดยที่ของขวัญเป็นสิ่งที่ได้รับแยกจากค่าจ้างที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้าแล้ว ประเภทของขวัญมีดังนี้ เงินสดจำนวน 248 บาท (7 ยูโร), กระบอกน้ำ, ขวดน้ำที่ติดป้ายราคา, โอริกามิ (การพับกระดาษ) รูปเสื้อที่พับขึ้นมาจากธนบัตร, และอีกประเภทหนึ่งคือให้บุคลากรเลือกว่าจะรับเป็นเงินสดหรือกระบอกน้ำ ของขวัญทั้งหมดนี้มีราคาเท่ากันที่ 248 บาท จากผู้เข้าร่วมการทดลองทั้งหมด 410 คน ที่มาทำงานในการทดลองนี้ ผลพบว่า
1. ของขวัญประเภทเงินสด เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน 5% แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
2. กระบอกน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน 25%
3. กระบอกน้ำที่มีป้ายราคาติดไว้ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน 21%
4. การที่บุคลากรได้รับตัวเลือกระหว่างเงินสดหรือกระบอกน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน 25%
5. โอริกามิพับจากธนบัตร เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน 29%
จะเห็นได้ว่าการให้ของขวัญที่เป็นวัตถุสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของบุคลากรได้ดีกว่าการให้เป็นเงินสดหรือการบอกราคาของของขวัญชิ้นนั้น และยิ่งของขวัญดังกล่าวผ่านการคิดอย่างใส่ใจและมีความตั้งใจอย่างการพับโอริกามิให้กับบุคลากรยิ่งเป็นการแสดงให้บุคลากรเห็นว่าผู้จัดการหรือผู้ที่กำกับดูแลตนมีความใส่ใจกับการทำงานของตนจะส่งผลให้บุคลากรมีความต้องการที่จะตอบแทนด้วยการทำงานให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
โดยสรุปแล้วการให้ของขวัญไม่ว่าจะในช่วงเทศกาลหรือนอกเทศกาลนั้นมีประโยชน์ในทางจิตใจกับผู้รับไม่ว่าจะเป็นการรับทำให้เกิดความรู้สึกดีจากการได้ใช้งานของขวัญชิ้นนั้นหรือการระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญ และยิ่งของขวัญชิ้นนั้นผ่านการคิดและเต็มไปด้วยความตั้งใจจะทำให้ผู้รับรู้สึกถึงความได้รับความใส่ใจจากผู้ให้จะส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้และผู้รับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นและความต้องการที่จะตอบแทนความใส่ใจนั้น หวังว่าบทความเกี่ยวกับของขวัญนี้จะช่วยให้ผู้ที่กำลังเลือกหาของขวัญได้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยเพื่อให้ผู้รับของขวัญอันแสนสำคัญเกิดความประทับใจได้อย่างดีที่สุด
อ้างอิง
Chan, C., & Mogilner, C. (2017). Experiential gifts foster stronger social relationships than material gifts. Journal of Consumer research, 43(6), 913-931.
Jonason, P. K., Tost, J., & Koenig, B. L. (2012). Sex differences and personality correlates of spontaneously generated reasons to give gifts. Journal of Social, Evolutionary, and Cultural Psychology, 6(2), 181.
Kube, S., Maréchal, M. A., & Puppe, C. (2012). The currency of reciprocity: Gift exchange in the workplace. American Economic Review, 102(4), 1644-1662.