บุคลากรแชมเปี้ยนขององค์กร
21 ตุลาคม 2567 - เวลาอ่าน 1 นาทีผู้ที่สร้างไอเดียและแรงบันดาลใจด้วยพลังบวกเชิงรุก
องค์กรในปัจจุบันมีความต้องการและพยายามอย่างมากที่จะส่งเสริมบุคลากรมีพฤติกรรมการทำงานที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ต่อองค์กร ซึ่งมาจากการลงมือเชิงรุกในการส่งเสริมไอเดียที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเสริมสร้างจุดแข็งที่มั่นคงให้กับองค์กร สอดคล้องกับแนวคิดใหม่ในการบริหารงาน คือ พฤติกรรมแชมเปี้ยน (Championing behavior) ซึ่งหมายถึงระดับความสามารถของบุคลากรที่ขับเคลื่อนให้เกิดไอเดียนวัตกรรมใหม่ของทั้งตนเองและของเพื่อนร่วมงานเปรียบเสมือนกับแชมเปี้ยนคนหนึ่งในองค์กร พฤติกรรมแชมเปี้ยนนั้นมีประโยชน์หลายด้านต่อองค์กรไม่ว่าจะเป็นการที่มีผลการทำงานที่ดี มีการตัดสินใจอย่างมีคุณภาพ และสามารถที่จะสร้างเครือข่ายภายในองค์กรได้อย่างดี
อย่างไรก็ตาม การที่จะทำให้บุคลากรมีไอเดียของแชมเปี้ยนไม่ใช่เพียงแค่การมีความคิดสร้างสรรค์เท่านั้น แชมเปี้ยนยังต้องมีความพยายามทำให้บุคลากรคนอื่นในองค์กรตระหนักถึงคุณค่าของไอเดียใหม่ที่จะเป็นประโยชน์ และร่วมผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กรด้วย
หนึ่งในหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดพฤติกรรมของผู้ชนะคือการที่บุคลากรคนหนึ่งมีบุคลิกภาพเชิงรุก (Proactive personality) บุคลิกภาพเชิงรุก คือ บุคลิกภาพที่จะริเริ่มการเปลี่ยนแปลงและมีอิทธิพลต่อบุคลากรอื่นในที่ทำงาน มองหาวิธีการใหม่ในการทำงาน สามารถหาโอกาสใหม่เพื่อให้องค์กรดีขึ้น และสามารถที่จะโน้มน้าวบุคคลอื่นด้วยความคิดริเริ่มและความมุ่งมานะของตน บุคลิกภาพเชิงรุกจะส่งผลต่อนวัตกรรมได้เมื่อผลักดันให้บุคลากรคนอื่นเห็นว่าไอเดียนวัตกรรมนั้นเป็นประโยชน์และควรที่จะได้รับการยอมรับจากภายในองค์กร
Dirk De Clercq อาจารย์จาก Brock University ประเทศแคนาดา และ Renato Pereira อาจารย์จาก University Institute of Lisbon ประเทศโปรตุเกส ได้ทำการวิจัยโดยเสนอว่ามีปัจจัยสี่อย่างที่ทำให้บุคลากรหนึ่งคนที่มีบุคลิกภาพเชิงรุกสามารถเปลี่ยนตนให้กลายเป็นแชมเปี้ยนเชิงรุกมีดังนี้
1. การรับรู้ความสามารถของตนในการโน้มน้าวใจ (Persuasive self-efficacy)
2. ความกระตือรือร้นในการทำงาน (Job enthusiasm)
3. การมีปฏิสัมพันธ์เชิงสังคม (Social interaction)
4. การสนับสนุนขององค์กรต่อการเปลี่ยนแปลง (Organizational support for change)
บุคคลที่มีบุคลิกภาพเชิงรุกจะเป็นแชมเปี้ยนได้นั้น ต้องใช้ระยะเวลาและได้รับการสนับสนุนจากองค์กรอย่างมาก อาจส่งผลทางลบต่อการทำงานปัจจุบัน สิ่งที่องค์กรทำได้ คือ เข้าใจและสนับสนุนบุคลากรที่มีบุคลิกภาพเชิงรุกให้ได้รับเวลาที่เพียงพอในการเปลี่ยนแปลง นอกเหนือจากสนับสนุนเวลาและทรัพยากรแล้ว องค์กรสามารถเพิ่มพูนปัจจัยทั้งสี่ด้านข้างต้นได้ดังนี้
1. ช่วยให้บุคลากรพัฒนาทักษะเพื่อเพิ่มความมั่นใจในความสามารถในการโน้มน้าวใจคนอื่น
2. ตั้งเป้าหมายที่มีความท้าทายที่ทำให้บุคลากรรู้สึกตื่นเต้นและเติมเต็มความต้องการในการทำงาน
3. เอื้ออำนวยให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคลากรทั้งในและนอกที่ทำงาน
4. จัดทำระบบการตัดสินใจที่สนับสนุนไอเดียใหม่และมอบทรัพยากรที่เพียงพอในการช่วยให้บุคลากรแก้ไขปัญหาด้วยนวัตกรรม
มาตรการเหล่านี้จะช่วยให้บุคลากรสามารถนำพลังงานทางบวกภายในตนเองเพื่อให้จุดไฟให้เกิดพฤติกรรมของแชมเปี้ยน ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมในองค์กร บุคลิกภาพเชิงรุกนี้จะช่วยให้บุคลากรคนดังกล่าวมีกำลังใจในการทำงาน รู้สึกว่าความตั้งใจที่ตนต้องการทำได้รับการสนับสนุน ประสบความสำเร็จ แต่หากไม่ได้รับการสนับสนุนที่มากเพียงพอ จะทำให้บุคลากรคนดังกล่าวหมดกำลังใจ คับข้องใจ ส่งผลทางลบต่อบุคคลที่มีศักยภาพคนดังกล่าว