Mind Analytica

Ghosting การหายตัวออกจากความสัมพันธ์

31 ตุลาคม 2567 - เวลาอ่าน 3 นาที
Ghosting การหายตัวออกจากความสัมพันธ์

คนบุคลิกภาพแบบใดที่ชอบหายและคนบุคลิกภาพแบบใดมักถูกทิ้งไว้

ในความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนทุกครั้งใช่ว่าจะพบแต่แฮปปี้เอ็นดิ้งเสมอไป บางครั้งอาจจะพบกับปัญหาระหว่างความสัมพันธ์ที่นำไปสู่การเลิกราและความเสียใจ หรือแม้กระทั่งการที่เลือกหายจากกันไปโดยไม่มีโอกาสได้ร่ำลา บวกกับความเร็วของโลกด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทำให้การพบกันและจากกันเร็วยิ่งขึ้นโดยที่อีกฝ่ายในความสัมพันธ์ไม่รู้ตัวว่าตนถูกทิ้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โกสติ้ง (Ghosting) เป็นวิธีการที่ฝ่ายหนึ่งในความสัมพันธ์ใช้ในการยุติความสัมพันธ์นั้นลง โดยวิธีการนี้เริ่มเกิดขึ้นในยุคดิจิทัลเพื่อใช้ในการหลีกเลี่ยงการต้องพูดอย่างตรงไปตรงมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในความสัมพันธ์ที่ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการนิยามอย่างชัดเจนตรงไปตรงมา โกสติ้งแตกต่างจากวิธีการอื่นในการยุติความสัมพันธ์เนื่องจากขาดการอธิบายอย่างชัดเจนหรือไม่มีแม้กระทั่งการบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือการโกสติ้ง

อะไรบ้างที่บ่งบอกว่านี่คือการที่อีกฝ่ายกำลังเลือนหายกลายเป็นผีไปจากความสัมพันธ์

1. การกระทำบางอย่างที่บ่งบอกว่าความสัมพันธ์ ณ ปัจจุบัน กำลังเลือนหายไม่ว่าจะแบบกะทันหันหรือลดน้อยลง

2. การเลือนหายไปนี้เกิดขึ้นผ่านช่องทางการสื่อสารตั้งแต่หนึ่งช่องทางขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นการไม่รับโทรศัพท์ ไม่อ่านข้อความ เลิกติดตามโซเชียลมีเดีย หรือการบล็อกช่องทางการติดต่อ

พอจะเป็นไปได้หรือไม่ว่าผู้ที่เป็นฝ่ายโกสต์และผู้ที่ถูกโกสต์มีลักษณะส่วนบุคคลบางอย่างที่ทำให้เกิดการโกสติ้งขึ้น งานวิจัยในปีค.ศ. 2022 โดย Jacqueline M. Di Santo อาจารย์มหาวิทยาลัยและคณะจาก State University of New York at New Paltz และ University of California, Davis ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทำการศึกษาว่าบุคคลที่ทำพฤติกรรมโกสติ้งและบุคคลที่โดนโกสต์ต่างมีบุคลิกภาพแบบใด

ผลพบว่าบุคคลที่เป็นฝ่ายเริ่มโกสติ้งบ่อยครั้งมักจะมีบุคลิกภาพแบบ

- ไม่ค่อยมีความเป็นมนุษยนิยมหรือเห็นคุณค่าในคนอื่น (Low humanism) 

- หลงตัวเอง (Narcissism)

- ชอบเปิดตัวเข้าสังคม (Extraversion)

- มีความไม่มั่นคงทางอารมณ์ (Neuroticism)

- ไม่ค่อยมีความพึงพอใจในชีวิต (Low satisfaction with life)

- ไม่ค่อยมีความผูกพันแบบอาศัยบุคคลอื่น (Low dependence attachment)

- มีพฤติกรรมและความต้องการทางเพศที่ไม่ผูกมัด (Sociosexual tendency)

- และมีแนวโน้มความผิดปกติทางบุคลิกภาพชนิดก้ำกึ่ง (Borderline personality disorder) ไม่มั่นคงทางอารมณ์ กลัวการถูกทิ้ง ทำให้ยากที่จะรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่น

ในฝั่งของผู้ที่ถูกโกสต์บ่อยครั้งมักจะมีบุคลิกภาพใกล้เคียงกับผู้ที่เป็นฝ่ายโกสต์แต่ไม่ได้เกี่ยวกับความไม่มั่นคงทางอารมณ์หรือความพึงพอใจในชีวิตเหมือนกับผู้ที่เป็นฝ่ายโกสติ้ง

และนอกจากนี้การโกสต์ยังมีลักษณะเป็นวัฏจักรโดยที่ผู้ที่เริ่มโกสต์คนอื่นก่อนยังอาจเป็นผลมาจากการที่ตนเคยถูกโกสต์มาก่อนในความสัมพันธ์ก่อนหน้าเช่นกัน จากงานวิจัยของ Raúl Navarro และคณะจาก University of Castilla-La Mancha ประเทศสเปนในปีค.ศ. 2020 พบว่าคนที่เป็นฝ่ายโกสต์มักจะเป็นผู้ที่ถูกคนอื่นโกสต์มาในความสัมพันธ์ก่อนหน้านี้

หลังจากที่โกสติ้งเกิดขึ้นฝ่ายที่เริ่มและฝ่ายที่เป็นผู้ถูกโกสต์มีอารมณ์ความรู้สึกแตกต่างกันอย่างไร Gili Freedman อาจารย์จาก St. Mary’s College of Maryland ประเทศสหรัฐอเมริกาและคณะได้ทำการศึกษาในปีค.ศ. 2024 พบว่าผู้ที่เป็นฝ่ายโกสต์มีความรู้สึกเหล่านี้มากกว่าผู้ที่ถูกโกสต์

- ความภาคภูมิใจ (Proud)

- ความสุข

- ความรู้สึกผิด

- ความรู้สึกถึงความเป็นที่ยอมรับจากคนอื่น (Belongingness)

- การรับรู้คุณค่าในตนเอง (Self-esteem)

- การมีตัวตนอยู่อย่างมีความหมาย (Meaningful)

- ความรู้สึกได้กำหนดควบคุม (Control)

ในขณะที่ผู้ที่ถูกโกสต์มีความรู้สึกเศร้าและโกรธมากกว่าผู้ที่เป็นฝ่ายโกสต์

จากงานวิจัยช่วยให้เห็นภาพของผู้ที่เป็นฝ่ายเริ่มต้นการโกสต์ว่ามีบุคลิกภาพแบบใดจึงอาจจะช่วยบอกได้ในระดับหนึ่งว่าการคบหากับบุคคลที่มีบุคลิกภาพประมาณนี้ในอนาคตอันใกล้มีแนวโน้มบุคคลนั้นจะทำการโกสติ้งได้ หรือในอีกมุมหนึ่งบุคลิกภาพบางอย่างอาจทำให้ถูกโกสต์ไปได้เช่นกัน และท้ายที่สุดการโกสต์ยังส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของคนทั้งสองฝ่ายที่ไม่เหมือนกันโดยที่ฝ่ายโกสต์จะรู้สึกทางบวกและเห็นคุณค่าในตนเองมากกว่าแต่ในฝ่ายที่ถูกทิ้งไว้อาจจะรู้สึกเศร้าและโกรธมากกว่า

อ้างอิง

Di Santo, J. M., Montana, D., Nolan, K., Patel, J. P., Geher, G., Marks, K., ... & Thomson, G. (2022). To ghost or to be ghosted: An examination of the social and psychological correlates associated with ghosting. EvoS Journal: The Journal of the Evolutionary Studies Consortium, 12, 43-62.

Freedman, G., Powell, D. N., Le, B., & Williams, K. D. (2024). Emotional experiences of ghosting. The Journal of social psychology, 164(3), 367-386.

Navarro, R., Larrañaga, E., Yubero, S., & Víllora, B. (2021). Individual, interpersonal and relationship factors associated with ghosting intention and behaviors in adult relationships: Examining the associations over and above being a recipient of ghosting. Telematics and informatics, 57, 101513.

ผู้เขียน

MindAnalytica Team

MindAnalytica Team

เรื่องที่คุณอาจสนใจ