Mind Analytica

โลกของสถิติกับโลกของมนุษย์ มาเชื่อมโยงได้อย่างไร

15 มีนาคม 2566 - เวลาอ่าน 1 นาที
โลกของสถิติกับโลกของมนุษย์ มาเชื่อมโยงได้อย่างไร

สิ่งทุกสิ่งที่อยู่ในโลกล้วนมีความเปลี่ยนแปลง เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลง เราก็สามารถบันทึกความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้ในรูปแบบของข้อมูล ข้อมูลอาจจะอยู่ในรูปของตัวเลข ข้อความ เสียง ฯลฯ ข้อมูลด้วยตัวของมันเอง อาจไม่มีความหมายที่ชัดเจน เราจะเห็นเป็นตัวเลข ตัวอักษรที่เต็มไปหมด แต่หากนำข้อมูลเหล่านี้มาย่อย มาวิเคราะห์ความเชื่อมโยงของสิ่งต่าง ๆ ศาสตร์ความรู้ที่มุ่งหมายในการเข้าใจข้อมูล เชื่อมโยงข้อมูล คือ สถิติ (Statistics) ซึ่งในปัจจุบันอาจมองว่าอยู่ในศาสตร์ที่ใหญ่กว่า ที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) ที่จะครอบคลุมทั้งสถิติ และความรู้เกี่ยวกับข้อมูลอื่น เช่น การจัดเก็บข้อมูล การจัดระบบคอมพิวเตอร์เพื่อใช้คำนวณสถิติ การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล หรือแม้แต่เทคนิคการนำวิเคราะห์ทางสถิติไปใช้ในการตัดสินใจ

สถิติเป็นสิ่งที่ดูเหมือนจะเข้าใจยาก แต่พวกเราล้วนได้พบเจอสถิติในชีวิตประจำวัน เช่น อัตราการเกิดของประชากร ดัชนีความเหลื่อมล้ำด้านฐานะ ผลผลิตทางการเกษตรเฉลี่ย ค่ามลพิษที่วัดได้ในแต่ละช่วงเวลาเฉลี่ยในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง จะสังเกตว่าคำว่า “ค่าเฉลี่ย” ก็เป็นสถิติในรูปแบบหนึ่ง แต่ผู้ที่เรียนสถิติจะได้เรียนเทคนิควิธีที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น เปรียบเทียบความสนใจที่จะซื้อรถไฟฟ้าก่อนและหลังกรณีค่าซ่อมรถ 1 ล้านบาท, ปริมาณรถสัญจรในกรุงเทพฯ สัมพันธ์กับค่ามลภาวะ PM 2.5 มากน้อยเพียงใด เป็นต้น สถิติยังสามารถใช้ในการทำนายอนาคตได้ด้วย เช่น หาความสัมพันธ์ระหว่างป้ายหาเสียงกับการรับรู้และทัศนคติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หากป้ายหาเสียงมีมากจนเกินไปก็เปลืองงบประมาณ และอาจทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่พึงพอใจได้ แต่หากน้อยเกินไปก็อาจจะไม่เกิดการรับรู้ นักสถิติสามารถทำนายได้ว่า โดยสภาพพื้นที่เป็นแบบใด (เขตเมืองหรือชนบท) ขนาดถนนเป็นเท่าไร (2, 4, หรือ 6 เลน) จำนวนป้ายต่อกิโลเมตร ควรมีกี่ป้าย

สถิติไม่ได้นำมาใช้เพียงสิ่งนอกกายเท่านั้น สถิติก็สามารถนำมาประยุกต์ในการวัดความรู้ บุคลิกภาพ ลักษณะนิสัยที่อยู่ภายในบุคคลได้เช่นกัน แน่นอนพวกเราไม่สามารถเอาเครื่องมือไปวัดคนใดคนหนึ่งได้โดยตรง แต่นักจิตวิทยาได้นำข้อมูลพฤติกรรมที่คนหนึ่งแสดง ไปอ้างอิงลักษณะภายในบุคคลแต่ละบุคคล ผ่านการใช้กระบวนการเก็บข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติ ตัวอย่างเช่น การคัดเลือกหาคนในแผนกเพื่อเลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าแผนก หัวหน้าแผนกควรเป็นคนที่เข้าใจงาน เชื่อมโยงงานระหว่างคนในทีมได้ และประสาน ดูแล กำกับคนในทีมได้ดี ซึ่งอาจจะเรียกรวมๆ ว่าความเป็นผู้นำ (Leadership)

นักจิตวิทยาจะใช้วิธีการวัดความเป็นผู้นำได้หลากหลายรูปแบบ วิธีการหนึ่งคือให้เพื่อนร่วมงานประเมินลักษณะความเป็นผู้นำของแต่ละคน นักจิตวิทยาก็นำผลการประเมินเหล่านั้นมาทดสอบว่าเครื่องมือที่ใช้สามารถอ้างอิงความเป็นผู้นำได้จริงหรือไม่ คนในทีมตอบสอดคล้องกันหรือไม่ และใครที่มีลักษณะความเป็นผู้นำที่โดดเด่น

MindAnalytica เป็นสถานที่ที่รวบรวมนักสถิติและนักจิตวิทยา ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการวัดและประเมินลักษณะภายในบุคคล ด้วยความรู้ทางด้านจิตวิทยาและสถิติ แม้ว่าคนทั่วไปก็สามารถเขียนแบบสอบถามเพื่อสำรวจว่าคนแต่ละคนมีความเป็นผู้นำมากน้อยเพียงใด แต่เรานอกจากที่จะเขียนแบบสอบถามแล้ว เรายังวิเคราะห์เพิ่มเติมด้วยว่าแบบสอบเหล่านั้นสามารถวัดในสิ่งที่ต้องการ (เช่น ความเป็นผู้นำ) ได้หรือไม่ รูปแบบของแบบสอบถามควรเป็นอย่างไร นำข้อมูลที่ได้มาสกัดเป็นคะแนนที่มีคุณสมบัติที่การแบ่งแยกบุคคลต่างๆ ได้ดีได้อย่างไร

การวิเคราะห์เพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบว่าวัดในความเป็นผู้นำได้จริงหรือไม่ จะทำให้เกิดข้อมูลที่ถูกต้องในการคัดเลือกผู้นำ ข้อมูลที่ถูกต้อง จากข้อมูลที่ถูกวิเคราะห์ทางสถิติอย่างถี่ถ้วน ย่อม “ยุติธรรม” สำหรับผู้ตัดสินใจและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ

ผู้เขียน

MindAnalytica Team

MindAnalytica Team

เรื่องที่คุณอาจสนใจ