Mind Analytica

ผลการวิจัยบอกว่าผลการทดสอบ IQ บนคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนไม่ต่างกัน

27 มีนาคม 2566 - เวลาอ่าน 2 นาที
ผลการวิจัยบอกว่าผลการทดสอบ IQ บนคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนไม่ต่างกัน

Wonderlic เป็นบริษัทที่ผลิตแบบวัดเชาวน์ปัญญา (IQ) สำหรับการคัดเลือกบุคลากรเข้าทำงาน ได้พบว่าคะแนน IQ ที่ได้จากการทำจากคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือแตกต่างกัน ทั้งที่ข้อสอบก็เป็นข้อสอบเดียวกัน ลำดับของข้อสอบก็เป็นแบบเดียวกัน

ขณะที่คะแนนบุคลิกภาพ คะแนนความสนใจอาชีพ และตัวแปรทางจิตวิทยาอื่นๆ กลับไม่พบความแตกต่างระหว่างคอมพิวเตอร์และมือถือ ในอดีตนักวิชาการหลายคนพยายามอธิบายว่า ความแตกต่างนี้มาจากขนาดหน้าจอที่เล็กลง ทำให้การทำข้อสอบยากขึ้น ซึ่งก็เป็นไปได้ แต่ในงานวิจัยล่าสุด นักวิจัยสามคนที่ทำงานใน Wonderlic แสดงหลักฐานว่าความแตกต่างนี้มาจากการเลือกด้วยตนเอง (Self-Selection)

การเลือกด้วยตนเอง (Self-Selection) เป็นปรากฎการณ์ที่ผู้ตอบ (หรือบริษัท) เป็นคนเลือกเอง ว่าพวกเขาจะใช้คอมพิวเตอร์หรือมือถือในการทำแบบวัดเชาวน์ปัญญา ลักษณะพื้นฐานของผู้เลือกทำด้วยคอมพิวเตอร์และมือถือที่แตกต่างกันตั้งแต่ต้น ส่งผลให้คะแนน IQ แตกต่างกัน ไม่ใช่วิธีการตอบที่ส่งผลให้คะแนน IQ แตกต่างกัน กล่าวคือ ลักษณะอาชีพ เพศ อายุ ของผู้ที่ตอบด้วยโทรศัพท์มือถือ จะแตกต่างกับผู้ที่ตอบด้วยคอมพิวเตอร์ในการทำแบบวัด IQ

ลองนึกภาพว่าลักษณะอาชีพของคนที่ใช้คอมพิวเตอร์ทำแบบทดสอบ จะเป็นคนที่ทำงานในออฟฟิศเป็นหลัก ซึ่งต่างกับผู้ที่ตอบด้วยมือถือ ที่ผู้ตอบเหล่านี้อาจจะสมัครงานในตำแหน่งที่ไม่ได้ทำในออฟฟิศ ตอนตอบเลยใช้โทรศัพท์มือถือตอบ คนที่ทำงานที่เน้นการใช้ความคิดในการทำงานจะเป็นคนที่ทำงานในออฟฟิศเป็นหลัก มีคอมพิวเตอร์ให้ใช้ประจำ ทำให้คะแนน IQ ของคนที่ทำในคอมพิวเตอร์สูงกว่าคะแนนของคนที่ทำจากมือถือ

ความรู้เรื่องการเลือกด้วยตนเอง เป็นเรื่องที่รู้กันดีในระเบียบวิธีวิจัย ที่เป็นตัวแปรแทรกซ้อนในการอธิบายสาเหตุตัวแปรหนึ่งไปหาตัวแปรหนึ่ง ตัวอย่างคลาสสิกคือการพบความสัมพันธ์ระหว่างการดูคลิปที่มีเนื้อหาก้าวร้าวส่งผลให้มีพฤติกรรมก้าวร้าว การพบความสัมพันธ์นี้ไม่สามารถบอกได้ว่าการดูคลิปที่มีเนื้อหาก้าวร้าว เป็นสาเหตุของพฤติกรรมก้าวร้าว เพราะคนที่มีบุคลิกภาพที่ก้าวร้าวอยู่แล้ว อาจจะเลือกดูคลิปที่มีเนื้อหาก้าวร้าว และมีพฤติกรรมก้าวร้าวมากกว่าด้วย

ในระเบียบวิธีวิจัยมักจะบอกว่าให้ “สุ่ม” คนเข้าเงื่อนไขต่างๆ (Random assignment) จะทำให้ความแตกต่างของคนที่เข้าเงื่อนไขต่างๆ หายไป และทำให้การอธิบายสาเหตุของการดูคลิปที่มีเนื้อหาก้าวร้าวต่อพฤติกรรมก้าวร้าวได้โดยตรง แต่ว่าการสุ่มคนเข้าเงื่อนไขต่างๆ ไม่สามารถทำได้ทุกครั้ง เช่น นักวิจัยไม่สามารถสุ่มคนเข้าเงื่อนไขให้สูบบุหรี่หรือไม่สูบบุหรี่

ในบริษัท Wonderlic ได้ทดลองสุ่มคนเข้าเงื่อนไขการทำด้วยคอมพิวเตอร์และมือถือเช่นเดียวกัน ก็พบว่าคะแนน IQ ไม่แตกต่างกันระหว่างกลุ่ม นักวิจัยทั้งสามคนจึงวิเคราะห์เพิ่มเติมโดยใช้วิธีทางสถิติ ตรวจสอบความแตกต่างทางด้านอาชีพ อายุ เพศ ของทั้งสองกลุ่ม ก็พบว่าลักษณะพื้นฐานของทั้งสองกลุ่มแตกต่างกันจริง นักวิจัยจึงใช้วิธีการจับคู่คนที่มีข้อมูลพื้นฐานเหมือนกันจากทั้งสองเงื่อนไข (เช่น อาชีพ เพศ อายุเดียวกัน แต่คนนึงทำจากคอมพิวเตอร์และอีกคนทำจากมือถือ) จับคู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ จนครบคู่ที่เป็นไปได้ หลังจากจับคู่เรียบร้อยแล้ว มาเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างคะแนน IQ พบว่าคะแนน IQ แตกต่างกันเล็กน้อยมาก จนไม่สลักสำคัญ

ด้วยหลักฐานนี้ ทำให้บริษัท Wonderlic สบายใจในการนำคะแนนของคนหนึ่งที่ได้จากคอมพิวเตอร์ ไปเปรียบเทียบกับคะแนนอีกคนหนึ่งที่ได้จากมือถือได้ การทำแบบทดสอบทางจิตวิทยาเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ความระมัดระวัง ให้คะแนนที่ได้ออกมาสะท้อนลักษณะที่ต้องการวัดจริง ไม่ได้มีปัจจัยแทรกซ้อนอื่น ด้วยความระมัดระวังในการตรวจสอบเครื่องมือตนเองขนาดนี้ จึงไม่แปลกใจเลยว่าแบบทดสอบ IQ ของ Wonderlic จึงเป็นที่นิยมมากที่สุดในปัจจุบันในการคัดเลือกบุคลากรเข้าทำงาน

ผู้เขียน

MindAnalytica Team

MindAnalytica Team

เรื่องที่คุณอาจสนใจ