Mind Analytica

อิทธิพลปฏิสัมพันธ์ ตัวอย่างจากการเมือง

31 มีนาคม 2566 - เวลาอ่าน 2 นาที
อิทธิพลปฏิสัมพันธ์ ตัวอย่างจากการเมือง

ความน่าดึงดูดของนโยบายประชานิยมมีผลต่อโอกาสการเลือกพรรคการเมืองที่ออกนโยบายนั้นหรือไม่ แน่นอนว่าความจับต้องได้ของนโยบายประชานิยมมีผลต่อการเลือกของประชาชนแน่นอน

พรรคที่ประกาศให้สวัสดิการผู้สูงอายุ 5,000 บาทต่อเดือน ย่อมน่าดึงดูดกว่าพรรคที่เสนอสวัสดิการผู้สูงอายุเพียง 3,000 บาทต่อเดือน ดังนั้นอาจมองได้ว่าผลประโยชน์ที่ประชาชนได้รับจะส่งผลให้ประชาชนเลือกพรรคที่ออกนโยบายมากขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม ทำไมพรรคบางพรรคต่อให้ประกาศสูงหรือต่ำ ประชาชนก็ไม่เลือกอยู่ดี แต่บางพรรคยิ่งประกาศสูงเท่าไร ยิ่งเกิดกระแสให้ประชาชนเลือกมากยิ่งขึ้น

สิ่งที่ทำให้พรรคแต่ละพรรคแตกต่างกัน อาจเป็นเรื่องความน่าเชื่อถือของพรรค พรรคไหนน่าเชื่อถือมาก ยิ่งผลประโยชน์ประชาชนเยอะ โอกาสที่คนเลือกจะสูงขึ้น แต่หากพรรคไหนไม่น่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะให้ประโยชน์มากหรือน้อย โอกาสที่คนเลือกจะไม่ค่อยเพิ่มขึ้น จะเห็นว่าความน่าเชื่อถือมากำหนดความสัมพันธ์ระหว่างผลประโยชน์ที่ประชาชนได้ในนโยบายประชานิยม ต่อโอกาสที่ประชาชนเลือก ปรากฎการณ์เรียกว่า อิทธิพลปฏิสัมพันธ์ (Interaction Effect) ที่ผลประโยชน์จากนโยบายประชานิยมและความน่าเชื่อถือของพรรค มีปฏิสัมพันธ์กันในการกำหนดโอกาสในการเลือกพรรคการเมือง กล่าวคือ นโยบายประชานิยมจะได้ผล ทำให้พรรคหนึ่งถูกเลือกมากขึ้น ขึ้นอยู่กับว่าพรรคนั้นมีความน่าเชื่อถือหรือไม่

จากปรากฎการณ์นี้ พรรคที่ออกคำขวัญทางการเมืองว่า “พูดแล้วทำ” จึงเป็นวิธีการที่ฉลาดมาก เพราะตั้งใจไปเพิ่มความน่าเชื่อถือของพรรค อย่างไรก็ตาม ประชาชนบางกลุ่มเห็นคำขวัญนี้แล้วเป็นการตอกย้ำความน่าเชื่อถือของพรรค แต่ประชาชนบางส่วนเห็นคำขวัญนี้แล้วรู้สึกเฉยๆ เพราะเขาอาจเห็นคำขวัญนี้แล้ว ไม่ได้เชื่อถือตั้งแต่ต้น ตัวอย่างปฏิสัมพันธ์ในที่นี้ คือ การได้รับคำขวัญทางการเมืองว่าพูดแล้วทำ และทัศนคติของประชาชนที่มีต่อพรรคดังกล่าว มีปฏิสัมพันธ์ต่อความน่าเชื่อถือของพรรค

อีกตัวอย่างหนึ่ง ในทางการเมืองปัจจุบันมักมีคำว่ากระแส และกระสุน กระแสคือความนิยมของพรรคในภาพกว้าง กระแสอาจจะมาจากผลงานที่ดีหรือนโยบายในทางที่ดี ส่วนกระสุนคือผลประโยชน์ที่สามารถให้ประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ โอกาสที่ประชาชนจะเลือกพรรคการเมืองหนึ่ง อาจจะต้องดูทั้งกระแสและกระสุน กล่าวคือ กระแสดีก็ทำให้โอกาสเลือกพรรคการเมืองหนึ่งมากขึ้น ถ้ากระสุนดีก็ทำให้โอกาสเลือกพรรคการเมืองหนึ่งมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม กระแสและกระสุนอาจไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์ต่อโอกาสที่ประชาชนเลือกก็ได้ ถ้ากระแสและกระสุนร่วมกันไม่ได้ส่งผลร่วมกันเป็นทวีคูณ เป็นผลรวมของการเพิ่มของทั้งสองปัจจัย อันนี้จะเรียกว่าไม่มีปฏิสัมพันธ์

แต่หากมีทั้งกระแสและกระสุน ทำให้ผลโอกาสเลือกของประชาชนยิ่งเพิ่มพูน เมื่อมีทั้งสองอย่างทำให้ผลส่งเสริมมากกว่าอันใดอันหนึ่งเพียงอย่างเดียว พูดอีกนัยหนึ่ง อิทธิพลของกระแสเมื่อมีกระสุน (เส้นสีฟ้า) จะสูงกว่า (มีความชันมากกว่า) อิทธิพลของกระแสเมื่อไม่มีกระสุน (เส้นสีแดง) ในทางสถิติจะเรียกว่า ปฏิสัมพันธ์แบบส่งเสริมกัน (Synergistic interaction) 

หรืออิทธิพลของกระแสจะตกลง เมื่อมีกระสุน กล่าวคือ อิทธิพลของกระแสเมื่อมีกระสุน (เส้นสีฟ้า) จะน้อยกว่า (ความชันน้อยกว่า) อิทธิพลของกระแสเมื่อไม่มีกระสุน (เส้นสีแดง) ในทางสถิติจะเรียกว่าปฏิสัมพันธ์แบบต้านทานกัน (Antagonistic interaction) โดยสรุปคือ ถ้ากราฟอิทธิพลไม่ขนานกัน จะเรียกว่ามีปฏิสัมพันธ์กัน

อิทธิพลปฏิสัมพันธ์ อาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อิทธิพลกำกับ (Moderation Effect) เช่น ผลของคำขวัญทางการเมืองพูดแล้วทำต่อความน่าเชื่อถือของพรรค ขึ้นอยู่กับ (ถูกกำกับโดย) ทัศนคติที่ประชาชนนั้นมีต่อพรรค ทัศนคติดี ผลของคำขวัญพูดแล้วทำจะมีผลทางบวกต่อความน่าเชื่อถือ แต่หากทัศนคติไม่ดี ผลของคำขวัญพูดแล้วทำจะไม่มีผลต่อความน่าเชื่อถือ ในตัวอย่างนี้ ทัศนคติของประชาชนที่มีต่อพรรค จะถูกเรียกว่าตัวแปรกำกับ (Moderator) ดังนั้นอิทธิพลปฏิสัมพันธ์และอิทธิพลถูกกำกับเป็นเรื่องเดียวกัน เพียงแค่ปฏิสัมพันธ์มักใช้ในกรณีที่จะเน้นของความร่วมกันของตัวแปรสองตัว ที่มีต่อเป้าหมาย แต่อิทธิพลกำกับจะเน้นศึกษาว่าอิทธิพลของตัวแปรหนึ่งที่มีต่อตัวแปรตาม ขึ้นอยู่กับตัวแปรกำกับ จะให้ตัวแปรหนึ่งเป็นตัวแปรหลัก และอีกตัวแปรเป็นตัวแปรกำกับ

จากเรื่องปฏิสัมพันธ์นี้ ทำให้นักยุทธศาสตร์ทางการเมือง ต้องรู้จักพรรคตนเอง ต้องรู้จักประชาชนเป้าหมายของตนเอง ต้องวิเคราะห์ว่าพรรคของตนเองเหมาะสมกับนโยบายแบบไหน ต้องรู้จักประชาชนเป้าหมายในการหาเสียงของตนเอง ว่าพวกเขาเป็นอย่างไร ต้องหาเสียงแบบไหน ที่จะทำให้เขาเปลี่ยนใจ เมื่อไรก็ตามมีเงื่อนไขแบบนี้ นี่แหละที่นักวิจัยเรียกว่าปฏิสัมพันธ์

ผู้เขียน

MindAnalytica Team

MindAnalytica Team

เรื่องที่คุณอาจสนใจ