Mind Analytica

แค่คุยกับ Chatbot ก็บอกบุคลิกภาพได้ เมื่อ Chatbot ทำได้มากกว่าแค่ถามตอบ

10 เมษายน 2566 - เวลาอ่าน 2 นาที
แค่คุยกับ Chatbot ก็บอกบุคลิกภาพได้ เมื่อ Chatbot ทำได้มากกว่าแค่ถามตอบ

นักจิตวิทยามีวิธีการประเมินบุคลิกภาพที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้แบบสอบถามที่ออกแบบมาเพื่อประเมินบุคลิกภาพ การใช้การสัมภาษณ์โดยผู้สัมภาษณ์จะประเมินบุคลิกภาพจากคำตอบของผู้ถูกสัมภาษณ์ การใช้แบบทดสอบที่เป็นภาพที่กำกวม (เช่น ภาพหยดหมึก) มาให้ผู้ถูกทดสอบอธิบาย แล้วนำคำตอบที่ได้นั้นมาประเมินบุคลิกภาพว่าเป็นอย่างไร ซึ่งวิธีหลังมักจะใช้ประเมินบุคคลที่มีบุคลิกภาพผิดปกติ วิธีการที่ผ่านมาทั้งหมดนี้ อาจจะถูก Chatbot มาทดแทน

Chatbot หมายถึง การที่คอมพิวเตอร์สามารถสื่อสารสองทางกับผู้ตอบ ผ่านการพิมพ์ข้อความโต้ตอบกัน โดยมีการนำคำตอบของผู้ตอบ มาใช้ในการโต้ตอบกลับด้วย ซึ่งเทคโนโลยีล่าสุดที่โด่งดังในปัจจุบันคือ ChatGPT ที่คอมพิวเตอร์สามารถนำคำตอบของผู้ตอบ มาเชื่อมโยงกับบทสนทนาในส่วนถัดไปได้

งานวิจัยล่าสุดของ Jinya Fan และคณะ ได้ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Applied Psychology ในปีพ.ศ. 2566 ได้ทดสอบแล้วพบว่า แบบทดสอบบุคลิกภาพผ่าน Chatbot ที่คณะของเขาได้สร้างขึ้นมา มีคุณภาพเกือบเทียบเท่าแบบสอบถามที่ออกแบบมาเพื่อประเมินบุคลิกภาพ เขาพบว่าทั้งวิธี Chatbot และวิธีแบบสอบถาม สามารถประเมินบุคลิกภาพ 5 ด้านได้เหมือนกัน และสามารถประเมินบุคลิกภาพด้านย่อยได้ 30 ด้านเหมือนกัน นอกจากนี้ คะแนนบุคลิกภาพที่ได้จาก Chatbot ยังอาจทำนายเกรดเฉลี่ย คะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ เพิ่มเติมจากส่วนที่คะแนนบุคลิกภาพที่ได้จากแบบสอบถามไม่สามารถทำนายได้

วิธีการที่ Jinya และคณะใช้ คือ นำโปรแกรม Chatbot สำเร็จรูปมาประยุกต์ โดยสร้างหัวข้อ (topics) ที่จะคุยกับผู้ตอบไว้ล่วงหน้า แม้ว่าหัวข้อหลักหรือคำถามเปิดของทุกคนจะเหมือนกัน แต่คำถามตามของแต่ละคนจะแตกต่างกัน เนื่องจากโปรแกรมจะใช้คำตอบของผู้ทดสอบ มาสร้างประโยคสนทนาต่อ เพื่อเอื้อให้ผู้ตอบให้รายละเอียดมากขึ้น วิธีการนี้จะเรียกว่า เครื่องมือสนทนาโดยการฟังแบบสะท้อนสิ่งที่อีกฝ่ายสื่อออกมา (Active Listening converstion engine) 

หลังจากที่คุยจนจบแล้ว ข้อมูลคำตอบที่อยู่ในรูปแบบตัวอักษร จะถูกนำมาตัดเป็นประโยคด้วยการประมวลผลภาษาตามธรรมชาติ ( Natural Language Processing; NLP) เป็นศาสตร์ความรู้ภายใต้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence; AI) ที่พยายามเข้าใจภาษาที่มนุษย์สื่อสาร นำมาตัดประโยค นำมาเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของประโยคที่กำลังสื่ออยู่ พยายามเข้าใจบริบทของภาษา

แล้วใช้การถอดความหมายภายใต้ประโยคแต่ละประโยค (Universal Sentence Encoder)

ด้วยวิธีการวิเคราะห์องค์ประกอบทางสถิติ (Factor Analysis) Jinya ได้ สกัดออกมาเป็น 512 คุณลักษณะ หลักจากนั้นนำคุณลักษณะเหล่านี้ไปใช้ทำนายคะแนนบุคลิกภาพทั้ง 30 ด้านย่อยที่ได้จากแบบสอบถามของแต่ละคน ผลการวิเคราะห์จะเรียกว่าโมเดลทำนาย หากใช้ Chatbot ไปสัมภาษณ์คนใหม่ ก็จะสามารถสกัด 512 คุณลักษณะของผลการสัมภาษณ์ออกมา แล้วเอาคะแนน 512 คุณลักษณะนี้ไปเข้าโมเดลทำนาย คะแนนที่ทำนายได้ก็คือคะแนนบุคลิกภาพจาก Chatbot

แม้ว่าคะแนนบุคลิกภาพที่ได้มานี้ อาจจะมีคุณสมบัติทางสถิติไม่ได้ดีเท่ากับคะแนนบุคลิกภาพแบบสอบถาม (เช่น ความเที่ยงน้อยกว่า ความสามารถในการทำนายตัวแปรตามบางตัวน้อยกว่า) แต่การถามด้วย Chatbot เป็นประสบการณ์ที่ดีมากกว่าการตอบแบบสอบถามที่น่าเบื่อ นอกจากนี้ในการตอบ Chatbot 1 ครั้ง อาจไม่ได้ใช้ทำนายเพียงบุคลิกภาพอย่างเดียว อาจใช้ทำนายตัวแปรอื่นไปพร้อมกันได้ด้วย ถ้าได้สร้างโมเดลทำนายไว้ (เช่น ทำนายความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถในการบริหารเพิ่มเติม) ต่างจากแบบสอบถามที่ต้องไปตอบแบบสอบถามชุดใหม่เพื่อทำนายตัวแปรอื่นเพิ่มเติม หากมองในมุมที่ลึกลงไปการถามโดย Chatbot อาจไม่ต่างกับการสัมภาษณ์ หรือการให้แปลภาพกำกวมที่กล่าวถึงไว้ตั้งแต่ต้นเลย เพียงแค่เปลี่ยนจากคนให้คะแนน เป็นโปรแกรมให้คะแนน โปรแกรมจะเสถียรภาพมากกว่าบุคคล เพราะคนแต่ละคนอาจตีความหมายแตกต่างกัน และแม้คนเดียวกัน เวลาต่างกัน อาจมีแนวทางการแปลความหมายต่างกัน ต่างกับโปรแกรมที่สามารถแปลความหมายอย่างแม่นยำตามแนวทางที่ได้ระบุเอาไว้

งานวิจัยของ Jinya และคณะ ได้พัฒนาโมเดลในช่วงประมาณปี 2563 และได้ส่งบทความเสนอตีพิมพ์ในปี 2565 ตอนนั้นเทคโนโลยี Chatbot ยังไม่ดีเท่าปัจจุบัน ซึ่งในขณะนั้น ChatGPT ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ในปัจจุบันถ้าหากสร้าง Chatbot เพื่อประเมินบุคลิกภาพใหม่อาจจะได้ผลดีกว่าตอนที่ Jinya และคณะได้พัฒนาขึ้น จึงส่งผลให้นักวัดและประเมินผลทางจิตวิทยาจะถูก disrupt ด้วยเทคโนโลยีเป็นที่เรียบร้อย

บริษัท MindAnalytica ที่มุ่งหวังจะประเมินบุคลิกภาพ และตัวแปรทางจิตวิทยาของบุคคลต่างๆ ทีมพวกเรามีความเชี่ยวชาญเรื่องการประเมินบุคลิกภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสร้างแบบสอบถาม กำลังพยายามที่จะพัฒนา Chatbot และการวิเคราะห์ข้อมูลภาษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาษาไทยเพื่อการประเมินลักษณะทางจิตวิทยาและบุคลิกภาพ

นอกจากนี้ทางบริษัทยังมีแบบประเมินบุคลิกภาพแบบห้าองค์ประกอบให้ทดลองใช้งาน ถ้าหากท่านใดสนใจสามารถเข้าด้วย QR ในภาพประกอบหรือลิงค์ด้านล่าง

https://mindanalytica.com/survey/big-5

ผู้เขียน

MindAnalytica Team

MindAnalytica Team

เรื่องที่คุณอาจสนใจ