Mind Analytica

ตัวแปรกำกับ (Moderator) ตัวบ่งชี้ว่าตัวแปรต้นส่งผลต่อตัวแปรตามในบางสถานการณ์เท่านั้น

31 พฤษภาคม 2566 - เวลาอ่าน 1 นาที
ตัวแปรกำกับ (Moderator) ตัวบ่งชี้ว่าตัวแปรต้นส่งผลต่อตัวแปรตามในบางสถานการณ์เท่านั้น

ในสถานการณ์สมมติ ร้านค้าแห่งหนึ่งต้องการขายผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่ง สีของสินค้าย่อมมีผลต่อยอดขายของสินค้า แต่บางร้านพบว่าสีโทนพาสเทล เป็นสีที่ได้รับความนิยม ในขณะที่อีกร้านกลับพบว่าสีเอิร์ทโทนกลับเป็นสีมียอดขายดี กล่าวคือสีของผลิตภัณฑ์มีผลต่อยอดขายอย่างที่แต่ละร้านเสนอ เพียงแต่ร้านหนึ่งสีอ่อนพาสเทลขายดีกว่า ในขณะเดียวกันอีกร้านหนึ่งขายสีเอิร์ธโทนได้ดีกว่า กระบวนการที่ร้านค้าทำหน้าที่กำหนดทิศทางของสีแบบใดของผลิตภัณฑ์จะส่งผลดีต่อยอดขาย เรียกว่า การกำกับ (Moderation)

กระบวนการกำกับ (Moderation model) เริ่มต้นจากความสัมพันธ์เชิงสาเหตุระหว่างสองตัวแปร ในกรณีนี้คือ สีของผลิตภัณฑ์เป็นตัวแปรอิสระ (Independent variable) และยอดขายผลิตภัณฑ์เป็นตัวแปรตาม กระบวนกำกับเกิดเมื่อมีตัวแปรหนึ่งเป็นตัวกำกับขนาดหรือทิศทางของความสัมพันธ์เชิงสาเหตุ จากกรณีนี้สามารถเห็นได้ว่าร้านค้าในฐานะตัวแปรหนึ่งกำกับทิศทางของผลลัพธ์ของสีผลิตภัณฑ์ที่มีต่อยอดขาย สำหรับร้านหนึ่งสีอ่อนพาสเทลมียอดขายมากกว่าสีเอิร์ธโทน แต่อีกร้านหนึ่งสีอ่อนพาสเทลกลับมียอดขายน้อยกว่าสีเอิร์ธโทน จึงกล่าวได้ว่าสีของกะละมังเป็นตัวแปรอิสระ ยอดขายเป็นตัวแปรตาม และร้านค้าเป็นตัวแปรกำกับ จึงเป็นไปได้ว่าร้านที่ขายผลิตภัณฑ์สีอ่อนพาสเทลได้ดีกว่าคือร้านประเภทกิ๊ฟต์ชอป แต่ร้านที่สีเอิร์ธโทนขายดีกว่าเป็นร้านอุปกรณ์ช่าง

อีกตัวอย่างหนึ่งของตัวแปรกำกับ เช่น โดยทั่วไปบุคคลที่เชาวน์ปัญญา (IQ) สูงมีแนวโน้มเป็นผู้นำที่ดี ในบางกรณีบุคคลที่ IQ สูงบางคนจึงมีความสามารถในการเป็นผู้นำที่สูง แต่อีกกรณีผู้นำบางคนกลับมีความสามารถในการเป็นผูนำที่ไม่สูงนัก ตัวแปรกำกับจึงอาจเข้ามามีบทบาทในความสัมพันธ์ที่ต่างกันนี้ ซึ่งก็คือ ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) บุคคลที่มี EQ สูง มีความสามารถในการเข้าใจอารมณ์ความรู้สึก และจัดการอารมณ์ความรู้สึกของตนเองและบุคคลอื่นได้ดี ในบรรดาบุคคลที่ EQ สูง และมี IQ สูง นำไปสู่ระดับความเป็นผู้นำที่สูง แต่ในอีกกลุ่มบุคคลที่มี EQ ในระดับไม่สูงมาก IQ อาจมีความสามารถในการเป็นผู้นำไม่สูงเท่ากับอีกกลุ่ม กล่าวคือบุคคลที่มีระดับ IQ และ EQ สูงร่วมกันจึงมีความเป็นผู้นำสูง ในกรณีนี้ ตัวแปรต้นคือระดับ IQ ตัวแปรตามคือความเป็นผู้นำ และตัวแปรกำกับคือระดับ EQ

อีกตัวอย่างหนึ่ง ลักษณะผู้นำ ที่สามารถแบ่งได้ทั่วไปเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ผู้นำเน้นอำนาจ และผู้นำเน้นประชาธิปไตย ลักษณะผู้นำทั้งสองแบบนี้มีผลต่อผลการปฏิบัติงานในทีมของตน ในวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นความมั่นคง ไม่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง ผู้นำแบบมีอำนาจส่งผลให้ทีมมีผลการปฏิบัติงานที่สูงกว่าผู้นำแบบประชาธิปไตย เพราะความมั่นคงเป็นผลเมื่อผู้ตามมีความรับผิดชอบและปฏิบัติตามคำสั่ง เมื่อผู้ตามที่สามารถทำตามคำสั่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพงาน ในกรณีตรงข้ามวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นการสร้างนวัตกรรม ผู้นำแบบประชาธิปไตยส่งผลให้ทีมสร้างผลงานได้มากกว่าผู้นำแบบเน้นอำนาจ เพราะผู้ตามสามารถมีอิสระทางความคิดได้มากกว่า ซึ่งส่งผลกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และเกิดผลงานได้ง่ายกว่า ในกรณีนี้ ตัวแปรต้นคือรูปแบบของผู้นำ ตัวแปรตามคือผลงานของทีม และตัวแปรกำกับคือวัฒนธรรมขององค์กร

สำหรับการวิเคราะห์ตัวแปรกำกับในทางสถิติสามารถใช้การวิเคราะห์ถดถอย (Regression analysis) ในการวิเคราะห์ได้ โดยการสร้างตัวแปรปฏิสัมพันธ์ที่เกิดผลคูรของตัวแปรต้นและตัวแปรกำกับ ในอีกกรณีที่ตัวแปรอิสระและตัวแปรกำกับเป็นตัวแปรแบบจัดกลุ่ม (Categorical variable) สามารถใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบแฟคทอเรียล (Factorial analysis of variance) สำหรับวิเคราะห์โมเดลการกำกับได้ การวิเคราะห์เหล่านี้สามารถใช้โปรแกรมสถิติพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น SPSS, SAS, หรือ R ในการวิเคราะห์ได้

สามารถศึกษาการวิเคราะห์ตัวแปรกำกับได้จากแหล่งการเรียนรู้ทางสถิติสำหรับบุคลทั่วไปที่ให้ความรู้เกี่ยวกับตัวแปรส่งผ่านและสถิติขั้นกลางและสูงอยู่มากมายบนสื่อออนไลน์ หนึ่งในนั้นคือทีมงานและ CEO ของ MindAnalytica อ. สันทัด พรประเสริฐมานิต ซึ่งเป็นอาจารย์พิเศษทางด้านสถิติประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านเว็บไซต์ https://sunthud.com/ หนึ่งในบทเรียนมีการกล่าวครอบคลุมถึงการวิเคราะห์ถดถอยที่เป็นพื้นฐานของการวิเคราะห์โมเดลส่งผ่าน จนเข้าสู่สถิติขั้นกลางด้วยเทคนิคการวิเคราะห์โมเดลส่งผ่าน เพื่อให้ผู้เรียนได้เข้าใจตัวแปรส่งผ่านจากพื้นฐานไปสู่ขั้นที่สูงขึ้นไปได้อย่างง่ายที่สุด

ผู้เขียน

MindAnalytica Team

MindAnalytica Team

เรื่องที่คุณอาจสนใจ