Mind Analytica

ตัวแปรส่งผ่านและตัวแปรกำกับแตกต่างกันอย่างไร

7 มิถุนายน 2566 - เวลาอ่าน 1 นาที
ตัวแปรส่งผ่านและตัวแปรกำกับแตกต่างกันอย่างไร

ตัวแปรส่งผ่าน (Mediation) และตัวแปรกำกับ (Moderation) เป็นคำศัพท์ที่ผู้เรียนวิชาสถิติมักจะสับสนเป็นประจำ ถึงแม้ในบางกรณีสามารถทำเข้าใจนิยามได้ แต่เมื่อถึงเวลาใช้ในการทดสอบสมมติฐานว่าสถานการณ์นี้เป็นตัวแปรส่งผ่านหรือตัวแปรกำกับ จึงมักเกิดความสับสนบ่อยครั้ง บทความนี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อแสดงว่าวิธีการสังเกตอย่างง่ายว่าสถานการณ์นี้เป็นตัวแปรส่งผ่านหรือตัวแปรกำกับ

ตัวแปรส่งผ่าน คือ ตัวแปรอยู่ระหว่างกลางในการอธิบายว่าเพราะอะไรตัวแปรสาเหตุจึงก่อให้เกิดตัวแปรผลลัพธ์ เช่น เพราะอะไรฝนตกแล้วจึงเกิดรถติด ตัวแปรส่งผ่านที่เป็นไปได้ คือ ภาวะน้ำท่วม ฝนตกส่งผลให้เกิดน้ำท่วม และเมื่อเกิดน้ำท่วมจึงทำให้รถติด เป็นต้น

ส่วนตัวแปรกำกับ คือ ตัวแปรที่สามารถเปลี่ยนขนาดหรือทิศทางของสาเหตุ เช่น หากมีรถจำนวนน้อย แม้ว่าจะเกิดฝนตก ผลที่ตามมาคือจะไม่เกิดรถติด แต่หากมีรถจำนวนมาก แม้กระทั่งเกิดฝนตกเล็กน้อย ยังนำไปสู่การเกิดรถติดได้ ในสถานการณ์นี้จำนวนรถทำหน้าที่เป็นตัวแปรกำกับอิทธิพลของฝนตกต่อการทำให้รถติด 

ตัวแปรส่งผ่าน อธิบาพด้วยภาพอย่างง่าย คือ ผู้ “ส่ง” หรือคนกลางที่รับของมา จากนั้นจึงส่งของต่อไป ส่วนตัวแปรกำกับ คือ ผู้ “ควบคุม” หรือ “กำกับ” ว่าความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรจะเป็นไปอย่างไร ในเชิงทิศทาง ได้แก่ เป็นทางบวก ไม่มีความสัมพันธ์ หรือเป็นทางลบ ยกตัวอย่าง วิธีการจัดการกับปัญหาส่งผลต่อผลการปฏิบัติงาน โดยที่การแก้ปัญหาโดยมุ่งสู่ปัญหา (Problem based) จะนำไปสู่ผลการปฏิบัติงานที่ดีกว่าการหลีกเลี่ยงปัญหา (Avoidant based) ในอีกด้านหนึ่งพบว่าวิธีการจัดการปัญหาทั้งสองวิธีส่งผลให้ความเครียดในงานมีระดับแตกต่างกัน และความเครียดทำให้เกิดผลการปฏิบัติงานที่แตกต่างกัน ในกรณีนี้ความเครียดในงานจึงทำหน้าที่เป็นตัวแปรส่งผ่าน เพราะความเครียดเป็นตัวส่งอิทธิพลจากวิธีการจัดการปัญหาไปสู่ผลการปฏิบัติงาน

อย่างไรก็ตาม หากในสถานการณ์ที่บุคคลมีความเครียดระดับสูง การแก้ปัญหาโดยมุ่งสู่ปัญหากับการหลีกเลี่ยงปัญหา ส่งผลต่อผลการปฏิบัติงานที่ไม่แตกต่างกัน ในขณะที่หากบุคคลมีความเครียดน้อย การแก้ปัญหาโดยมุ่งสู่ปัญหาจะทำให้ผลการปฏิบัติงานดีกว่าการหลีกเลี่ยงปัญหา ในกรณีนี้ความเครียดในงานจึงทำหน้าที่เป็นตัวแปรกำกับ เนื่องจากความเครียดเปลี่ยนแปลงขนาดของความสัมพันธ์ระหว่างวิธีการแก้ปัญหา และผลการปฏิบัติงาน

โดยสรุป ตัวแปรส่งผ่านเปรียบเสมือน บุรุษไปรษณีย์ ที่ส่งอิทธิพลจากตัวแปรหนึ่งไปยังอีกตัวแปรหนึ่ง ส่วนตัวแปรกำกับ เปรียบเสมือน ป้ายบอกทาง ที่ชี้ให้ตัวแปรสองตัวไปในทิศทางเดียวกันเกิดสัมพันธ์ทางบวก หรือทำให้ตัวแปรสองตัวที่ไม่สัมพันธ์กันมีระดับความสัมพันธ์เป็นศูนย์ หรือชี้ให้ทิศทางต่างกันเกิดความสัมพันธ์ไปในทางลบ

ผู้เขียน

MindAnalytica Team

MindAnalytica Team

เรื่องที่คุณอาจสนใจ