Mind Analytica

ลักษณะการทำงานที่แตกต่างกันควรใช้วิธีการประเมินผลงานที่แตกต่างกัน

10 กรกฎาคม 2566 - เวลาอ่าน 1 นาที
ลักษณะการทำงานที่แตกต่างกันควรใช้วิธีการประเมินผลงานที่แตกต่างกัน

การประเมินผลงานเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการจัดการทรัพยากรบุคคลขององค์กร ผลจากการประเมินนำไปใช้ในการขึ้นเงินเดือน เลื่อนขึ้น หาความต้องการในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ตรวจสอบว่านโยบายขององค์กรได้รับการตอบสนองในระดับพนักงานหรือไม่ แม้การประเมินผลงานจะมีประโยชน์มหาศาล แต่ระบบการประเมินควรปรับไปตามสภาพของงานและนโยบายขององค์กร 

นักวิจัยในสเปนได้สัมภาษณ์หัวหน้าฝ่ายทรัพยากรบุคคลในธุรกิจประเภทโรงงานจำนวนกว่า 1,003 แห่ง เขาวิเคราะห์ว่าสภาพงานที่แตกต่างกัน นโยบายขององค์กรที่แตกต่างกัน ส่งผลต่อวิธีการประเมินผลงานหรือไม่ ในสภาพการทำงานปกติ พนักงานอาจถูกประเมินด้วยวิธีปรนัย (objective) ซึ่งเป็นผลงานที่จับต้องได้ เช่น จำนวนสินค้าที่ผลิตได้ หรือความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เป็นต้น แต่ผลงานวิจัยพบว่า อิสระในงาน (job autonomy) ที่โรงงานให้แก่พนักงาน (เช่น การออกแบบขั้นตอนการทำงานเอง) ส่งผลทำให้โรงงานเหล่านั้นเลือกใช้วิธีการประเมินแบบอัตนัย (subjective) เช่น ให้หัวหน้าประเมินตรงๆ ว่าพนักงานมีผลงานดีหรือไม่ มากกว่าวิธีการประเมินแบบปรนัย (objective) เนื่องจากพนักงานที่มีอิสระในงานมักจะทำงานหลากหลายอย่างในคราวเดียวกัน (Multitasking) ทำให้ยากที่จะกำหนดวิธีการประเมินจากผลงานที่จับต้องได้ เพราะมีผลงานหลากหลายแบบ การประเมินแบบปรนัยจะครอบคลุมผลงานที่หลากหลายได้ง่ายกว่า 

อุตสาหกรรมที่เน้นให้พนักงานทำงานเป็นทีม และเน้นผลงานของทีม จะมีปัญหาในการประเมินผลงานส่วนบุคคล เพราะผลงานของพนักงานแต่ละคนภายในทีมส่งผลซึ่งกันและกัน การที่จะแบ่งว่าผลงานชิ้นใดเป็นของใครจะทำได้ยาก โรงงานที่เน้นทำงานเป็นทีมจึงมีแนวโน้มประเมินด้วยวิธีอัตนัย มีความถี่ในการประเมินน้อย (เช่น ปีละครั้งหรือนานกว่านั้น) และมักได้รับการประเมินจากหัวหน้าทีมโดยตรง แทนที่จะเป็นหัวหน้าในระดับสูงขึ้นไป หรือคนจากฝ่ายทรัพยากรบุคคล เนื่องจากว่าหัวหน้าโดยตรงจะเห็นการมีส่วนร่วมของพนักงานที่มีต่อผลงานของทีมได้ดีกว่าหัวหน้าระดับสูงออกไป ที่อาจเห็นเพียงแค่ภาพรวมของทีม 

ดังนั้น การประเมินผลงานแบบระบบเดียวใช้กับทั้งองค์กรอาจไม่เหมาะสม การประเมินแบบปรนัยจะเหมาะสมกับ คนที่เน้นการทำงานคนเดียว มีขอบเขตงานที่ชัดเจน สามารถวัดผลงานได้ชัดเจน การประเมินแบบปรนัยส่งผลให้พนักงานมุ่งความสนใจไปในการสร้างงาน แต่เมื่องานซับซ้อนมากขึ้น ต้องทำงานเป็นทีม ต้องทำงานหลากหลายอย่างพร้อมกัน การประเมินผลงานจำเป็นต้องใช้แบบอัตนัย คะแนนการประเมินแบบอัตนัยจะสะท้อนจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นผลงานของผู้ถูกประเมินจริงๆ การรับรู้ผลงานของผู้ประเมิน ทัศนคติของผู้ประเมินต่อผู้ถูกประเมิน ผู้ที่ออกแบบการประเมินต้องคิดให้รอบคอบว่าใครควรเป็นผู้ประเมิน และจะออกแบบอย่างไรให้การประเมินสะท้อนผลงานของผู้ถูกประเมินจริงๆ มากกว่าสะท้อนปัจจัยอื่นๆ

ผู้เขียน

MindAnalytica Team

MindAnalytica Team

เรื่องที่คุณอาจสนใจ