Mind Analytica

เปลี่ยนความเบื่อให้เป็นผลทางบวก

24 กรกฎาคม 2566 - เวลาอ่าน 1 นาที
เปลี่ยนความเบื่อให้เป็นผลทางบวก

ความเบื่อเป็นสิ่งที่คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นอารมณ์ทางลบ เป็นสถานะที่คนไม่พึงพอใจในสถานะปัจจุบัน ต้องการเปลี่ยนสิ่งที่ตนเองทำอยู่ ต้องการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมรอบตัว ความเบื่อถือเป็นกระบวนการทางธรรมชาติของมนุษย์ ที่เตือนให้มนุษย์แต่ละคนต้องปรับเปลี่ยนสิ่งที่ตนเองเป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นกระบวนการในเชิงวิวัฒนาการที่สร้างสรรค์ให้มนุษย์ปรับตัว ให้อยู่รอด และมีลูกหลานต่อไปได้ หากไม่มีความเบื่อ มนุษย์จะไม่ปรับตัว สิ่งที่สำคัญมากกว่าความเบื่อ คือ กระบวนการในการจัดการความเบื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเบื่อในที่ทำงาน

นักวิจัยที่ศึกษาความเบื่อในการทำงานชื่อว่า Cummings ได้เสนอว่าการจัดการกับความเบื่อ สามารถแบ่งได้เป็น 3 วิธีการง่ายๆ คือ 

  1. ความคิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานที่ทำปัจจุบัน (Task-unrelated thought) พูดง่ายๆ คือ อาการใจลอย คิดเรื่องอื่น ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับงานหรือไม่เกี่ยวกับงานก็ได้ วิธีการนี้จะเกิดขึั้นตามธรรมชาติ ทำให้มนุษย์ลดความไม่พึงพอใจในสถานะปัจจุบัน หากมองในทางลบ พนักงานอาจทำให้งานที่ทำอยู่ล่าช้า ไม่สำเร็จ เพราะไม่ได้ใช้เวลากับงานตรงหน้าเต็มที่ แต่ถ้ามองในแง่ดี สิ่งที่พนักงานคิดระหว่างใจลอย อาจทำให้เกิดไอเดียใหม่ๆ ในงาน อาจทำให้เกิดวิธีการทำงานในปัจจุบันรูปแบบใหม่ๆ ถ้าไม่เกิดความเบื่อ ทำงานไปเรื่อยๆ ก็อาจไม่ทำให้ฉุกคิดว่าสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถปรับปรุงได้อย่างไร
  2. ไปเกี่ยวข้องกับงานอื่น (Other task engagement) คือ การหลีกเลี่ยงการทำงานปัจจุบัน แล้วไปทำสิ่งอื่น ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับงานหรือไม่เกี่ยวข้องกับงานก็ได้ เช่น สลับไปทำงานอื่นที่ไม่น่าเบื่อ ไปช่วยงานคนอื่น ไปคุยกับเพื่อนร่วมงาน เล่นเกม เช็ค social media เป็นต้น ในแง่ร้ายก็สามารถมองว่าเป็นการอู้งานได้ แต่วิธีการบางอย่าง ก็อาจมีผลบวกในการทำงาน เช่น การไปคุยกับเพื่อนร่วมงานบางครั้ง ก็สามารถเพิ่มเครือข่ายเพื่อนร่วมงานที่ใหญ่ขึ้น การไปช่วยงานคนอื่นสามารถช่วยสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดี การเช็ค social media ก็อาจทำให้เจอไอเดียใหม่ๆ ได้ 
  3. การเปลี่ยนวิธีการทำงานปัจจุบัน (Changing task engagement) คือ การเปลี่ยนวิธีการทำงานปัจจุบัน การคิดพิจารณาเพื่อปรับการทำงานปัจจุบันก็ถูกรวมในกลุ่มนี้ด้วย เปลี่ยนเป้าหมายการทำงานให้สูงขึ้น สร้างวิธีการทำงานให้ซับซ้อนขึ้นไม่น่าเบื่อ เช่น หากปัจจุบันนี้ทำงานเฝ้าประตูหมู่บ้าน ก็เปลี่ยนโจทย์ให้เป็นผู้ต้อนรับผู้อยู่อาศัยภายในหมู่บ้าน หรือ การเปลี่ยนการทำงานในสายการผลิตให้เป็นเกมที่มีการแข่งขันระหว่างกลุ่ม วิธีการนี้เป็นวิธีการที่ลดความไม่พึงพอใจที่ตนมีในปัจจุบันด้วยและเพิ่มผลผลิตในงานปัจจุบันด้วย ซึ่งเป็นวิธีการจัดการต่อปัญหาความเบื่อที่ดีแน่นอน

ความเบื่อเป็นสิ่งที่ติดตัวมากับมนุษย์ และเป็นกระบวนการที่ดีที่ทำให้มนุษย์เกิดการพัฒนา องค์กรต้องบริหารความเบื่อของพนักงานให้เหมาะสม เพื่อเชิญชวนให้พนักงานจัดการความเบื่อในงานได้ เช่น จัดบริเวณให้พนักงานต่างแผนกพูดคุยกัน หาช่องทางให้พนักงานส่งข้อมูลให้ผู้บริหารในการปรับปรุงงานปัจจุบันของเขาให้น่าเบื่อน้อยลง เปิดโอกาสให้พนักงานใช้อินเทอร์เน็ตในการค้นหาข้อมูลอื่นเกี่ยวกับงานได้ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องให้เกิดความสมดุล ให้งานปัจจุบันเดินหน้าไปด้วย และเมื่อเบื่อก็มีช่องทางให้พนักงานลดความเบื่อได้ การบริหารให้ตอบสนองต่อความเบื่อที่ดีจะเป็นการเปลี่ยนให้พนักงานไม่จัดการกับความเบื่อด้วยวิธีที่ไม่พึงประสงค์ และเมื่อจัดการกับความเบื่อด้วยวิธีที่พึงประสงค์แล้ว ก็จะทำให้เกิดสถานการณ์ที่ได้ประโยชน์ทั้งพนักงานและองค์กร

ผู้เขียน

MindAnalytica Team

MindAnalytica Team

เรื่องที่คุณอาจสนใจ