พฤติกรรมถ่วงความก้าวหน้าในที่ทำงาน
14 สิงหาคม 2566 - เวลาอ่าน 1 นาทีพฤติกรรมถ่วงความก้าวหน้าในที่ทำงาน (Counterproductive behavior) เป็นพฤติกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิตในการทำงานและอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร เช่น การอู้งาน การแอบหยิบของที่ทำงานไปใช้ที่บ้าน การมาสาย การขโมยของ การจงใจทำงานให้เสร็จช้า เป็นต้น พฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นทั่วไปในที่ทำงานไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐหรือเอกชน เมื่อคำนึงถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตของพฤติกรรมถ่วงความก้าวหน้าในที่ทำงานต่อประสิทธิผลขององค์กรผู้นำองค์กรและผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจึงตั้งใจที่จะศึกษาปัจจัยสาเหตุและปัจจัยป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมดังกล่าวในที่ทำงาน
นักจิตวิทยาทางด้านอุตสาหกรรมและองค์กร Alaybek และคณะได้ศึกษาหาปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมถ่วงความก้าวหน้าในที่ทำงานและได้แบ่งปัจจัยออกเป็น 2 รูปแบบ คือ ปัจจัยด้านลักษณะภายในบุคคล และปัจจัยด้านการตัดสินใจ
ปัจจัยลักษณะภายในบุคคล คือ การตรวจสอบว่าบุคคลที่มีนิสัยและคุณลักษณะแบบใดที่จะมีพฤติกรรมถ่วงความก้าวหน้ามากหรือน้อย โดยพบว่าบุคคลที่มีบุคลิกภาพแบบรับผิดชอบ (Conscientiousness) เห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Agreeableness) และมีความมั่นคงทางอารมณ์สูง (Emotional Stability) จะมีแนวโน้มทำพฤติกรรมถ่วงน้อยลง
รูปแบบวิธีการตัดสินใจมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมถ่วงความก้าวหน้าสามารถแบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ
1. การใช้เหตุผลในการตัดสินใจ (Rational)
2. การหลีกเลี่ยงการตัดสินใจ (Avoidant)
3. การหุนหันตัดสินใจเร็ว (Spontaneous)
4. การใช้สัญชาตญาณตัดสินใจ (Intuition)
5. การตัดสินใจโดยขึ้นกับผู้อื่น (Dependent)
ผลพบว่าบุคคลที่ตัดสินใจแบบใช้เหตุผลจะมีพฤติกรรมถ่วงน้อย แต่คนที่ตัดสินใจแบบหลีกเลี่ยงการตัดสินใจและแบบหุนหันจะมีแนวโน้มมีพฤติกรรมถ่วงสูงขึ้น ส่วนการใช้สัญชาตญาณและขึ้นกับผู้อื่นไม่สัมพันธ์กับพฤติกรรมถ่วง สาเหตุที่ทำให้บุคคลที่หลีกเลี่ยงการตัดสินใจนำไปสู่มีพฤติกรรมถ่วงสูงเนื่องจากบุคคลมีแนวโน้มที่จะขยายผลของการเสียสละผลประโยชน์ส่วนตนออกไปทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง เช่น หลีกเลี่ยงการเจอผู้บังคับบัญชา จงใจทำงานช้า เป็นต้น ส่วนการตัดสินอย่างหุนหันเป็นการตัดสินใจที่ไม่ศึกษาข้อมูลซึ่งมักเสี่ยงต่อการทำให้ผู้อื่นเสียหาย การตัดสินใจทั้งสองแบบนี้จึงมีแนวโน้มให้เกิดพฤติกรรมถ่วงความก้าวหน้า
องค์ประกอบการตัดสินใจอื่นที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมถ่วงความก้าวหน้า ได้แก่ การรับรู้บรรทัดฐานทางสังคมและการรับรู้ความเสี่ยง
ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่บุคคลที่มีการรับรู้บรรทัดฐานของสังคมสูงจะมีความเข้าใจว่าพฤติกรรมใดที่บุคคลกลุ่มหนึ่งยอมรับได้และพฤติกรรมที่บุคคลอีกกลุ่มหนึ่งไม่ยอมรับ ถ้าหากบุคคลมีความเข้าใจบรรทัดฐานของสังคมสูงจะนำไปสู่การมีพฤติกรรมถ่วงความก้าวหน้าต่ำ
ในอีกกรณีหนึ่งถ้าหากบุคคลมีการรับรู้ความเสี่ยงในพฤติกรรมเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตามต่ำจะมีแนวโน้มมีพฤติกรรมถ่วงความก้าวหน้าสูง และยิ่งไปกว่านั้นถ้าหากบุคคลรับรู้ว่าพฤติกรรมที่เสี่ยงส่งทำให้ได้ผลประโยชน์ในปริมาณที่สูงจะยิ่งทำให้แสดงบุคคลพฤติกรรมเสี่ยงสูงมากขึ้น
เมื่อพิจารณาตัวแปรทั้งหมดแล้วชี้ให้เห็นว่าปัจจัยเรื่องการรับรู้ความเสี่ยงมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมถ่วงความก้าวหน้ามากที่สุดเมื่อเทียบกับตัวแปรอื่น ในมุมมองของการบริหารทรัพยากรมนุษย์ วิธีที่สามารถลดพฤติกรรมถ่วงความก้าวหน้าในองค์กรเริ่มต้นโดยการหลีกเลี่ยงคัดเลือกพนักงานที่มีมุมมองต่อความเสี่ยงของพฤติกรรมเสี่ยงสูงกว่าปกติและการไม่รับรู้ถึงประโยชน์ของความเสี่ยง นอกจากนี้การบริหารกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดสร้างความตระหนักถึงผลเสียจากพฤติกรรมถ่วงความก้าวห้นายังคงเป็นวิธีการที่ได้ผลที่ดีในการลดพฤติกรรมดังกล่าว