Mind Analytica

Computer Adaptive Test

18 ตุลาคม 2566 - เวลาอ่าน 1 นาที
Computer Adaptive Test

ข้อสอบที่ปรับความยากตามความสามารถของผู้รับการทดสอบ

เมื่อพูดถึงการสอบโดยทั่วไป ผู้เข้ารับการทดสอบแต่ละคนจะได้ข้อสอบที่เหมือนกัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ผลการทดสอบสามารถเปรียบเทียบกันได้ว่าใครได้คะแนนสูงกว่าใคร ในอีกมุมหนึ่งผู้เข้าสอบที่มีความสามารถสูงยังต้องทำข้อสอบในข้อที่ง่ายมากไล่ขึ้นไป ในขณะเดียวกันคนที่มีความสามารถไม่สูงยังต้องทำข้อสอบที่ยากมากในตอนท้ายด้วยเช่นกัน 

ในหลาย ๆ กรณีจะพบได้ว่าการสอบที่ใช้ระยะเวลานานเกินไปจะทำให้ผลการทดสอบคลาดเคลื่อนอันเนื่องมาจากความเหนื่อยล้าในการทำข้อสอบ การทดสอบด้วยข้อสอบทุกคนจึงเป็นการเสียเวลาและยังไม่ได้ผลลัพธ์ที่ตรงตามความสามารถของผู้สอบ ในบทความนี้จึงต้องการชี้ให้เห็นว่าจะเป็นการดีกว่าหรือไม่ ถ้าหากสามารถลดเวลาในการทดสอบลงได้ โดยที่ข้อสอบจะถูกปรับระดับความยากให้เหมาะสมกับระดับความสามารถของผู้ถูกทดสอบ

ผู้สร้างแบบทดสอบจึงเสนอวิธีใหม่ โดยใช้คำตอบจากคำถามข้อแรก ๆ มาตรวจคะแนน แล้วประมาณการว่าความสามารถของผู้ถูกทดสอบอยู่ในระดับใด ข้อคำถามหลังจากนั้นจะถูกจัดให้อยู่ในระดับความยากที่เหมาะสมกับผู้รับการทดสอบ กล่าวคือ ถ้าผู้เข้าสอบตอบถูกติดต่อกัน ข้อคำถามจะยากขึ้นตามลำดับ แต่ถ้าผู้เข้าสอบตอบถูกติดต่อกัน ข้อคำถามจะง่ายลงตามลำดับ

แบบทดสอบรูปแบบนี้จะเรียกว่า แบบทดสอบที่ปรับได้ด้วยคอมพิวเตอร์ (Computer Adaptive Test) ด้วยเทคนิคนี้ แม้ผู้เข้าสอบคนแรกและคนที่สองตอบคำถามถูกด้วยจำนวนข้อเท่ากัน เช่น ตอบถูก 15 ข้อ จาก 30 ข้อเหมือนกัน ผู้เข้าสอบคนแรกจะได้คะแนนสูงกว่าเพราะตอบถูกในข้อยาก ขณะที่ผู้เข้าสอบคนที่สองจะได้คะแนนต่ำกว่าเพราะตอบถูกในข้อง่าย และตอบไม่ถูกในข้อที่ยากระดับปานกลาง

แบบทดสอบที่ปรับได้ด้วยคอมพิวเตอร์ได้รับความนิยมอย่างมากเมื่อ 20 ปีที่แล้ว สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งสหรัฐอเมริกาได้ประยุกต์ใช้เทคนิคกับแบบทดสอบหลายอย่าง เช่น TOEFL, GMAT, หรือ GRE การทดสอบด้วยคอมพิวเตอร์ทำให้ประหยัดเวลาการทดสอบได้เป็นอย่างมาก และทำให้ผลการทดสอบแม่นยำมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แบบทดสอบที่ปรับด้วยคอมพิวเตอร์เป็นเทคนิคที่ต้องลงทุนสูงมาก ต้องสร้างข้อสอบจำนวนมาก ในการทดสอบจากบางสถาบันต้องมีข้อสอบจำนวนถึง 2,000 ข้อขึ้นไป และแต่ละข้อยังต้องมีความยากแตกต่างกัน ด้วยข้อสอบที่ถูกสร้างขึ้นจำนวนมากขนาดนี้เป็นการกรันตีได้ว่าผู้ถูกทดสอบได้ข้อคำถามที่แตกต่างกันอย่างแน่นอน และในกรณีที่ผู้เข้าสอบมาทดสอบซ้ำอีกครั้งยังมีแนวโน้มจะได้ข้อสอบที่แตกต่างจากข้อสอบชุดเดิมที่เคยสอบ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าแบบทดสอบรูปแบบนี้เป็นแบบทดสอบที่ได้รับความนิยมมาก แต่การสร้างข้อสอบจำนวนมากและยังจำเป็นต้องให้ข้อสอบเหล่านี้สามารถใช้ต่อไปได้ในระยะยาวย่อมเป็นไปไม่ได้ ผู้รับการทดสอบหลายคนจึงใช้วิธีการจดจำข้อสอบออกมาและเผยแพร่สู่สาธารณะ ผู้เข้าสอบคนใหม่ที่ได้อ่านเฉลยแบบทดสอบย่อมต้องมีคะแนนดีกว่าผู้เข้าสอบคนเก่า เพราะถ้าหากบังเอิญเจอกับคำถามตามเฉลย ผู้เข้าสอบจะสามารถตอบได้ทันทีจากความจำ ไม่ใช่จากความสามารถตามจุดประสงค์ของการทดสอบ ด้วยเหตุนี้ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาจึงยกเลิกระบบการทดสอบด้วยคอมพิวเตอร์ในระยะหนึ่ง แล้วใช้วิธีออกข้อสอบใหม่ในช่วงนั้นแทน

ในปัจจุบันแบบทดสอบที่ปรับได้ด้วยคอมพิวเตอร์ได้นำกลับมาใช้อีกครั้ง เพื่อเป็นการป้องกันการผลของข้อสอบชุดเก่าที่ถูกนำออกมาเฉลย จึงมีการสร้างข้อสอบขึ้นมาใหม่และผสมกับข้อสอบเก่าจำนวนหนึ่ง โดยที่ข้อสอบเก่าจะใช้เพื่อเชื่อมและเปรียบเทียบระหว่างข้อสอบชุดใหม่กับข้อสอบชุดเดิม ส่วนข้อสอบที่สร้างขึ้นมาใหม่เพื่อให้ผู้ถูกทดสอบคนใหม่ได้เจอข้อสอบใหม่เป็นส่วนใหญ่ และการปรับความยากด้วยคอมพิวเตอร์จะไม่ได้ทำการปรับทุกข้อ แต่จะปรับทุก 5 ข้อ หรือตามความเหมาะสมของแต่ละแบบทดสอบ  จุดประสงค์ของการออกข้อสอบแบบนี้เพื่อให้มีความยุติธรรมระหว่างคนที่สอบก่อนและสอบทีหลัง

ถึงแม้จะมีปัญหาเรื่องต้นทุนในการสร้างข้อสอบจำนวนมากและความเสี่ยงที่ข้อสอบอาจหลุดสู่สาธารณะ แต่ด้วยเงื่อนไขการส่งข้อสอบเฉพาะข้อคำถามที่เหมาะสมกับระดับความสามารถของผู้ถูกทดสอบ ทำให้วิธีการนี้ยังแสดงระดับความแม่นยำที่สูงมาก ผู้เข้าสอบจะไม่เสียเวลากับข้อคำถามที่ระดับไม่เหมาะสมกับตนเอง แบบทดสอบที่ปรับได้ด้วยคอมพิวเตอร์นี้จึงเหมาะสำหรับข้อสอบที่ผู้ถูกทดสอบมีแนวโน้มต้องทำซ้ำหลายครั้งต่อปี ใช้ทดสอบผู้คนจำนวนมาก และต้องการความแม่นยำของคะแนนอย่างแท้จริง 

ในระบการทดสอบของประเทศไทยยังมีแบบทดสอบในรูปแบบนี้จำนวนไม่มาก เนื่องจากจำนวนครั้งในการทดสอบยังไม่สูงเท่ากับการทดสอบจากสถาบันนานาชาติ อย่างเช่น TOEFL หรือ GMAT ที่ผู้เข้าสอบสามารถทดสอบได้ถึง 4 ครั้งขึ้นไปต่อปี แต่ในประเทศไทย อย่างเช่น แบบทดสอบวิชาชีพ แบบทดสอบภาค ก ของ ก.พ. หรือแบบทดสอบเข้ามหาวิทยาลัย ที่มีคนทดสอบจำนวนมากในเมืองไทย แต่มีแนวโน้มเปิดทดสอบหนึ่งถึงสองครั้งต่อปี ด้วยความถี่ในการทดสอบไม่มากรวมถึงต้องเตรียมคอมพิวเตอร์มาใช้ทดสอบคนจำนวนมาก จึงอาจจะยังไม่เห็นแบบทดสอบที่ปรับได้ด้วยคอมพิวเตอร์ในเร็ว ๆ นี้

ผู้เขียน

MindAnalytica Team

MindAnalytica Team

เรื่องที่คุณอาจสนใจ