FOMO Marketing
15 พฤศจิกายน 2566 - เวลาอ่าน 1 นาทีการตลาดดิจิทัลบนพื้นฐานของความกลัวถูกลืม
บนโลกของสื่อสังคมออนไลน์มักจะพบได้ว่าผู้คนมักจะแชร์เรื่องราวของตนเองไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ชีวิต การท่องเที่ยว หรือแม้กระทั่งการซื้อและใช้ผลิตภัณฑ์ที่ออกกำลังเป็นกระแสบนโซเชียลมีเดีย ในขณะที่คนอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้รับชมเรื่องราวเหล่านั้นจะเกิดความรู้สึกว่าตนเองกำลังขาดอะไรบางอย่างไปจากชีวิตและนำไปสู่การเติมเต็มช่องว่างในจิตใจด้วยการได้มาซึ่งความเป็นเจ้าของประสบการณ์นั้นบ้าง และสื่อสารให้โลกรู้ว่าตนนั้นไม่ได้ตกกระแส ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเรียกว่า Fear of missing out หรือเรียกโดยย่อว่า FOMO
ปรากฏการณ์ FOMO ได้รับการนำมาใช้ในทางการตลาดออนไลน์ด้วยเช่นกันโดยมักจะเห็นได้ชัดจากกระแสสังคมที่มีการแชร์ผลิตภัณฑ์หรือบริการของแบรนด์ต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมาอย่างเช่น การรับประทานหม่าล่า การรับชมละครโทรทัศน์ การท่องเที่ยวและการเข้าพักตามที่พักต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการอ่านข่าวหรือประเด็นทางสังคม ซึ่งพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ตามมาคือการแชร์ให้ผู้อื่นบนสังคมออนไลน์ได้รับรู้ว่าตนเองนั้นกำลังเป็นส่วนหนึ่งของกระแสที่เกิดขึ้น นอกจากนี้การสำรวจโดยสมาคมจิตวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกาสำรวจในช่วง COVID พบว่าผู้ใหญ่จำนวน 56% มี FOMO ซึ่งนับได้ว่าเป็นตัวเลขไม่น้อยและมีอิทธิพลมากต่อการโน้มน้าวใจทางการตลาดให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าและบริการของแบรนด์
ในมุมมองทางจิตวิทยาจึงนำมาสู่การศึกษาอย่างเป็นระบบเพื่อทำความเข้าใจสาเหตุและผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยปัจจัยที่ทำให้คนหนึ่งคนเกิด FOMO ประกอบไปด้วย 2 ส่วน
1. ความคิดว่าคนอื่นกำลังมีประสบการณ์ที่ดีในชีวิตไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตามในขณะที่ตนนั้นไม่ได้รับ
2. ความต้องการของมนุษยที่จะสื่อสารกับคนอื่น อันเนื่องมาจากมนุษย์มีความต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
ปัจจัยแรกโดยพื้นฐานแล้วคืออารมณ์ความรู้สึกความวิตกกังวลหรือหมกมุ่นครุ่นคิดกับสิ่งที่ขาดไปในชีวิต ถ้าหากมีมากจนเกินไปจะนำไปสู่ผลเสียต่อสุขภาพจิต ผู้คนจึงเลือกทำปัจจัยที่สองคือการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นเพื่อลดความรู้สึกดังกล่าวลง
ในมุมมองของผู้ที่ไม่ต้องรับผลกระทบของ FOMO ในทางจิตใจ อย่างเช่น เกิดความวิตกกังวลเมื่อเห็นกระแสสังคมใหม่ ๆ หรือเริ่มมีความห่างเหินจากเพื่อนฝูง วิธีการที่สามารถลดผลกระทบลงได้บ้างคือการเริ่มติดต่อสื่อสารกับคนรอบข้างหรือการทำความรู้จักกับผู้คนใหม่ผ่านการทำกิจกรรมต่าง ๆ
ถึงแม้จะประเด็นเรื่อง FOMO จะมีประโยชน์โดยเฉพาะทางการตลาด แต่อย่างไรก็ตามผลที่เกิดกับจิตใจของผู้รับเรื่องราวของคนอื่น ๆ ซึ่งนำไปสู่ความรู้สึกกลัวและกังวลในจิตใจเป้นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียจึงควรรู้เท่าทันทั้งกลยุทธ์ทางการตลาดด้วยการสังเกตเนื้อหาที่ตนรับไม่ว่าจะจากทั้งแบรนด์หรือจากคนรอบตัว และรู้เท่าทันความรู้สึกของตนเองว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร เพื่อไม่ให้ซื้อสินค้าหรือแชร์ในสิ่งที่ไม่จำเป็น