Mind Analytica

สหสัมพันธ์ลวง

17 มกราคม 2567 - เวลาอ่าน 1 นาที
สหสัมพันธ์ลวง

ความน่ากลัวของการเชื่อมโยงสาเหตุอย่างผิด ๆ

เริ่มต้นตั้งแต่ครั้งในอดีต มนุษย์มีการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวจากการเชื่อมโยงระหว่างเหตุการณ์สองเหตุการณ์เข้าด้วยกัน อย่างเช่น ความเชื่อที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นเมื่อเกิดสุริยุปราคาที่ดวงอาทิตย์ถูกบดบังผู้คนย่อมเกิดความหวาดกลัวและพยายามที่จะแก้ไขด้วยวิธีการต่าง ๆ ให้ดวงอาทิตย์กลับมา วิธีการที่ผู้คนในอดีตใช้นั่นคือการตีเกราะเคาะไม้เพื่อไล่สิ่งที่บดบังด้วยอาทิตย์ และเมื่อการกระทำนั้นตามมาด้วยการกลับคืนมาของดวงอาทิตย์ เหตุการณ์นี้ยังย้ำชัดด้วยการทำซ้ำหลาย ๆ ครั้งเมื่อเกิดสุริยุปราคา ผู้คนจึงเชื่อมโยงระหว่างการการตีเกราะเคาะไม้กับการไล่สิ่งที่บดบังดวงอาทิตย์ออกไป

ในขณะเดียวกันหากผู้คนไม่ได้ตีเกราะเคาะไม้แล้วดวงจันทร์ก็จะยังคงโคจรออกจากดวงอาทิตย์ ในท้ายที่สุดดวงอาทิตย์ก็จะปรากฏต่อสายตาของผู้คนอีกครั้ง การเชื่อมโยงเหล่านี้เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนมีแนวโน้มจะทำ เพราะทำสิ่งหนึ่งแล้ว เกิดสิ่งหนึ่งขึ้นแม้จะไม่ได้เป็นสาเหตุและผลลัพธ์ของกันและกันก็ตาม ในทางจิตวิทยาจะเรียกว่า สหสัมพันธ์ลวง (Illusory Correlation)

สหสัมพันธ์ลวงเกิดจากความเกิดขึ้นได้ยากของเหตุการณ์บางอย่างและเมื่อเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจึงสามารถดึงความสนใจของผู้คนให้พยายามอธิบายสาเหตุของเหตุการณ์นั้น ๆ ได้ แม้จะไม่ได้มีข้อมูลที่เพียงพอก็ตาม 

ตัวอย่างของสหสัมพันธ์ลวง เช่น

- คนที่ใส่แว่นมักจะฉลาด

- คนที่เก่งเลขมักจะเก่งดนตรี

- คนถนัดซ้ายมักจะสร้างสรรค์

ตัวอย่างเหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนที่แสดงให้เห็นว่าสหสัมพันธ์ลวงสามารถนำเราไปสู่ข้อสรุปที่ผิดเกี่ยวกับโลกได้ เหตุนี้การตระหนักถึงความลำเอียงทางความคิดนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้เราตัดสินโลกอย่างแม่นยำมากขึ้น

และนอกจากจะเป็นเรื่องของความเชื่อแล้วในหลายครั้งยังเป็นเรื่องของการใช้ข้อมูลสถิติสองชุดด้วยกันที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันมาเชื่อมโยงกัน ยกตัวอย่างเช่น การศึกษาพบว่ามนุษย์มีกะโหลกศีรษะที่เล็กลงจากอดีตและการที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อย นำมาสู่สหสัมพันธ์ลวงว่าอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นส่งผลให้กะโหลกศีรษะของมนุษย์มีขนาดเล็กลง เป็นต้น การนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้นอกจากจะเป็นการเชื่อมโยงที่แล้วยังอาจนำไปสู่การส่งต่อความเข้าใจที่ผิดในสังคมวงกว้างได้เช่นกัน

การศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์มองว่าการเกิดขึ้นของสิ่งหนึ่งแล้วอีกสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นนั้นไม่เพียงพอต่อการสรุปว่าสิ่งแรกเป็นสาเหตุของสิ่งที่สอง และเพื่อเป็นการป้องกันผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากสหสัมพันธ์ลวง การที่นักวิทยาศาสตร์จะอนุมานสาเหตุได้อย่างเคร่งครัดและรัดกุม จะต้องมี 4 ปัจจัยประกอบกัน คือ 

1. เหตุการณ์หนึ่งเกิดก่อนเหตุการณ์หนึ่ง เช่น การที่เด็กดูสื่อที่มีเนื้อหาก้าวร้าวเป็นเหตุการณ์ที่เกิดก่อนเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว

2. เหตุการณ์ทั้งสองเหตุการณ์มีความสัมพันธ์กัน เช่น เด็กที่ดูสื่อที่มีเนื้อหาก้าวร้าว เมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่ได้ดู พบว่าเด็กที่ได้ดูมีพฤติกรรมก้าวร้าวมากกว่าเด็กอีกกลุ่ม

3. ตัดปัจจัยแทรกซ้อนที่อาจอธิบายเหตุการณ์ที่ตามมา เช่น เด็กที่ดูสื่อที่มีเนื้อหาก้าวร้าวและแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวอาจมาจากครอบครัวที่พ่อแม่ไม่มีเวลาให้กับลูก ในการตัดปัจจัยที่แทรกซ้อนนักวิทยาศาสตร์ต้องสามารถกำหนดเวลาของพ่อแม่ที่มีให้กับลูกให้คงที่ โดยที่พ่อแม่ของแต่ละคนจะต้องมีเวลาให้ลูกเท่าๆ กัน และเปรียบเทียบว่าเด็กที่ดูสื่อที่มีเนื้อหาก้าวร้าวและเด็กที่ไม่ได้ดูยังคงมีพฤติกรรมก้าวร้าวแตกต่างกันหรือไม่

4. มีทฤษฎีอธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น เด็กที่ได้ดูสื่อที่มีเนื้อหาก้าวร้าว มีแนวโน้มแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวมากกว่าเด็กที่ไม่ได้ดู เนื่องจากเด็กแสดงพฤติกรรมเลียนแบบพฤติกรรมก้าวร้าวจากตัวแบบในสื่อ ซึ่งสามารถรอธิบายได้จากทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม (Social Learning Theory)

ดังนั้นการออกแบบงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้สามารถอนุมานสาเหตุและมั่นใจว่าสิ่งหนึ่งเป็นสาเหตุของสิ่งหนึ่งจริง จะต้องมีการเก็บข้อมูลแล้วจับคู่เปรียบค่าตัวแปรแทรกซ้อนที่ใกล้เคียงกัน และสังเกตว่าเหตุการณ์หนึ่งยังคงมีผลต่อเหตุการณ์หนึ่งหรือไม่ การรู้ว่าสิ่งหนึ่งเป็นสาเหตุของสิ่งหนึ่งอย่างถูกต้อง ก่อให้เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่นำไปสู่ข้อสรุปในสาขาวิชาต่างๆ อย่างถูกต้องและปราศจากสหสัมพันธ์ลวง

ผู้เขียน

MindAnalytica Team

MindAnalytica Team

เรื่องที่คุณอาจสนใจ