Mind Analytica

สุขภาวะ

24 มกราคม 2567 - เวลาอ่าน 1 นาที
สุขภาวะ

เทรนด์ใหม่ที่การทำงานในองค์กรยกให้สำคัญกว่าผลการปฏิบัติงาน

ความรวย ความมั่งคั่ง แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งเดียวที่ทำให้มนุษย์มีความสุข ความพึงพอใจในชีวิต นักจิตวิทยาได้ศึกษาว่าอะไรที่ทำให้มนุษย์มีสุขภาวะ (Well-being) ที่ดีบ้าง ไม่ว่าจะเป็น สุขภาพร่างกายที่ดี ความมั่นคงทางจิตใจและอารมณ์ ความสัมพันธ์ที่ดี ความรู้สึกมีจุดมุ่งหมาย สิ่งเหล่านี้ประกอบกับความรวย ความมั่งคั่ง จะส่งผลให้มนุษย์คนหนึ่งมีความสุข ความพึงพอใจในชีวิต

นักจิตวิทยาผู้ศึกษาเรื่องของสุขภาวะในบริบทขององค์กร Tay และคณะ ได้เขียนบทความเพื่อชี้ให้เห็นว่า องค์กรไม่ควรจะเน้นที่ผลการปฏิบัติงานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น องค์กรควรสนใจปัจจัยอื่น ๆ โดยรอบ ที่ทำให้องค์กรมีสุขภาวะที่ดี โดยการนำแนวคิดของ สุขภาวะ ซึ่งหมายถึง การที่บุคคลมีประสิทธิภาพในการดำเนินชีวิตในระดับที่เหมาะสม มาใช้ในบริบทของการทำงานในองค์กรจึงสามารถแบ่งสุขภาวะออกเป็นทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่

1. สุขภาวะบุคลากร ที่ไม่ใช่แค่ความรู้สึกหรืออารมณ์ที่ดี แต่ยังรวมถึงสุขภาวะในขอบเขตที่กว้างที่สุดคือการมีชีวิตที่งอกงามทั้งในการทำงาน อย่างเช่น การมีเพื่อนในที่ทำงาน ประสบการณ์การทำงาน ความสนใจทางอาชีพ ความรู้สึกลื่นไหลในการทำงาน ความเชี่ยวชาญในทักษะต่าง ๆ การมีจุดแข็งทางอาชีพ การบรรลุเป้าหมายทางอาชีพ และการกำกับอารมณ์ทางบวกและทางลบในการทำงาน ส่วนสุขภาวะบุคลากรในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น สุขภาวะทางการเงิน ครอบครัว สังคม และกิจกรรมเวลาว่าง 

2. สุขภาวะองค์กร คือการทำงานของวัฒนธรรม สภาพแวดล้อม และผู้นำที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสม โดยทั่วไปประสิทธิภาพขององค์กรมักจะวัดได้จาก ด้านการเงิน ผลิตภัณฑ์ในตลาด และผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นและนักลงทุน แต่ประสิทธิภาพขององค์กรไม่ควรจะรวมแค่มูลค่าทางเศรษฐกิจแต่ยังควรมีระบองค์กรที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ระบบการคัดเลือกและเลื่อนขั้นบุคลากรไปจนถึงการสื่อสารภายในองค์กร

สุขภาวะองค์กรยังรวมถึงวัฒนธรรมองค์กร ได้แก่ ความเชื่อ ค่านิยม ความคาดหวัง บรรทัดฐาน โครงสร้าง แนวปฏิบัติ และแม้กระทั่งผู้นำ สุขภาวะองค์กรที่ดีเกิดจากการที่องค์ประกอบเหล่านี้ทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพขององค์กร โดอีกความหมายหนึ่งคือการที่องค์กรมีสภาพแวดล้อมในการทำงานทางบวก

3. สุขภาวะลูกค้า นอกเหนือไปจากความพึงพอใจ อารมณ์ และพฤติกรรมทางบวกของลูกค้า ยังรวมไปถึงการตั้งราคาอย่างเหมาะสมไม่ใช่การตั้งราคาเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ยังมีเรื่องของคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการที่มีความน่าเชื่อถือ ทนทาน และปลอดภัย เพื่อป้องกันสวัสดิภาพทางกายและทางใจของลูกค้า และรวมถึงการมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรงกับความต้องการ

4. สุขภาวะทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากองค์กรนับเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและสิ่งแวดล้อมจึงควรที่จะมีส่วนรว่มในการส่งเสริมสุขภาวะทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเช่นกัน อย่างเช่น การจัดกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate social responsibility) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม กิจกรกรรมเหล่านี้สามารถมีได้ตั้งแต่ การสนับสนุนชุมชน โครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม

โดยสรุปแล้วด้วยกระแสที่กำลังเติบโตของการมีส่วนร่วมทางสังคมและความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม องค์กรทั้งหลายได้มีแนวทางในการวัดประเมินผลและสื่อสารสุขภาวะด้านนั้น ๆ ขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในส่วนที่ยังสามารถพัฒนาเพิ่มเติมได้คือสุขภาวะบุคลากร การวัดและประเมินสุขภาวะด้วยมาตรวัดทางจิตวิทยาต่าง ๆ อย่างเช่น สุขภาวะทางอารมณ์ในที่ทำงาน การทำงานอย่างมีความหมาย ความงอกงามแบบองค์กรวม เป็นต้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการปรับเปลี่ยนองค์กรจากการเน้นประสิทธิภาพการผลิตและการเงินไปสู่องค์กรที่มีสุขภาวะที่ดีอย่างรอบด้านในอนาคต

บทความต้นฉบับ

Tay, L., Batz-Barbarich, C., Yang, L. Q., & Wiese, C. W. (2023). Well-Being: The ultimate criterion for organizational sciences. Journal of Business and Psychology, 38(6), 1141-1157.

ผู้เขียน

MindAnalytica Team

MindAnalytica Team

เรื่องที่คุณอาจสนใจ