Mind Analytica

โค้ชชิ่งด้วยจิตวิทยาเชิงบวก

31 มกราคม 2567 - เวลาอ่าน 1 นาที
โค้ชชิ่งด้วยจิตวิทยาเชิงบวก

ค้นหาจุดแข็งภายในเพื่อการพัฒนาตนเอง

โค้ชชิ่งเป็นกระบวนการที่ช่วยให้บุคคลหรือทีมพัฒนาศักยภาพของตนเองและบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเน้นการส่งเสริมความรับผิดชอบ ความมุ่งมั่น และความสามารถในการเรียนรู้ของโค้ชชี่ โค้ชชิ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการช่วยให้บุคคลและองค์กรบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ

และด้วยความนิยมของจิตวิทยาเชิงบวก (Positive psychology) ที่มากขึ้นในงานด้านการพัฒนาบุคคล ทั้งนักวิจัยและผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านการพัฒนาบุคคล อย่างเช่น โค้ช ได้นำความรู้ด้านจิตวิทยาเชิงบวกมาประยุกต์ใช้เพื่อส่งเสริมศักยภาพบุคคล จึงเกิดเป็นแนวคิดโค้ชชิ่งด้วยจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychological Coaching) โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมจุดแข็งและจุดเด่นของผู้ที่เข้ารับการโค้ช หรือเรียกสั้น ๆ ว่า โค้ชชี่ (Coachee) ให้แต่ละบุคคลนำมาใช้ได้เต็มศักยภาพ แทนที่การซ่อมแซมจุดด้อยของแต่ละบุคคล นอกจากนี้จิตวิทยาเชิงบวกยังมุ่งเน้นเรื่องของการเจริญเติบโตและความงอกงามภายในบุคคล นำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดี ตระหนักเข้าใจถึงจุดแข็งของตนคืออะไร และนำจุดแข็งเหล่านั้นมาใช้ได้อย่างเต็มศักยภาพ

นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กรอย่าง Van Zyl และคณะที่เห็นถึงประโยชน์จากการนำจิตวิทยาเชิงบวกมาใช้ในกระบวนการโค้ชชิ่งและได้ศึกษาและสรุปกระบวนการโค้ชจิตวิทยาเชิงบวกซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนทั้งหมด 5 ขั้นตอนดังนี้

  • สร้างความสัมพันธ์ โค้ชจะเริ่มต้นทำความรู้จักกับโค้ชชี่ด้วยการสร้างความสัมพันธ์เชิงวิชาชีพและความไว้วางใจ นอกจากนี้ยังใช้วิธีการสังเกตการณ์โค้ชชี่ในระหว่างการทำงานเพื่อเข้าใจแนวทางการทำงานและความสัมพันธ์ระหว่างโค้ชชี่และบุคคลอื่นในองค์กรเป็นอย่างไร
  • ค้นหาจุดแข็งและให้ฟีดแบ็ก โค้ชสามารถใช้หลากหลายวิธีในการค้นหาจุดแข็งของผู้รับบริการ วิธีการที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ การทำแบบสำรวจจุดแข็ง ซึ่งเป็นแบบทดสอบทางจิตวิทยาที่ช่วยบ่งบอกระดับของจุดแข็งได้ หรือในปัจจุบันยังมีวิธีการที่สร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น อย่างเช่น การใช้บอร์ดเกมในการสังเกตพฤติกรรมการเล่นของผู้รับบริการ นอกจากนี้ยังสามารถค้นหาจุดแข็งผ่านการสัมภาษณ์ การสังเกตพฤติกรรม เมื่อกระบวนการค้นเสร็จสิ้นโค้ชจะทำการสรุปข้อมูลสิ่งที่พบให้แก่โค้ชชี่
  • สร้างวิสัยทัศน์ เป้าหมายแบบอุดมคติ โค้ชชี่จะได้รับการช่วยเหลือจากโค้ชในการสร้างตัวตนในอุดมคติที่อยากจะเป็น โดยใช้วิธีการเขียนลักษณะบุคลิกภาพและพฤติกรรมให้ออกมาอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนมากที่สุด รวมถึงถ้าเป้าหมายในตอนท้ายหาความตั้งใจของโค้ชชี่ประสบความสำเร็จแล้ว บุคคลคนนั้นจะเป็นคนอย่างไร 
  • ตั้งเป้าหมาย ค้นหายุทธวิธี และการปฏิบัติ โดยอิงจากจุดแข็ง โค้ชชี่จะได้รับการช่วยเหลือในการสร้างเป้าหมายย่อยโดยอ้างอิงจากจุดแข็ง หรือค้นหากลยุทธต่างๆ ที่จะช่วยให้ผู้รับบริการเข้าใกล้บุคคลในอุดมคติมากขึ้น
  • สรุปผล โค้ชและโค้ชชี่สิ้นสุดกระบวนการโค้ชดดยการประเมินความคืบหน้าที่เกิดขึ้น ถ้าหากโค้ชชี่มีจุดที่ต้องการส่งเสริมยังสามารถที่จะเข้าสู่กระบวนการโค้ชชิ่งใหม่ได้ในอนาคต

นอกจากขั้นทั้งหมด 5 ขั้นตอนในการโค้ชด้วยจิตวิทยาเชิงบวกแล้ว การที่โค้ชชี่จะประสบความสำเร็จยังต้องอาศัยปัจจัยสำคัญอีก 3 ส่วน คือ 

(1) ต้องนำทักษะที่ได้รับการโค้ชไปใช้ในสภาพการทำงานจริง เพื่อให้เกิดการถ่ายโอนสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ในชีวิตจริง

(2) ต้องมีการประเมินประสิทธิภาพหลังการโค้ช โดยการตรวจสอบเป้าหมายรายย่อยที่ตั้งไว้ว่าบรรลุผลหรือไม่ รวมถึงการประเมินสุขภาวะของโค้ชชี่ว่ายังอยู่ในระดับที่เหมาะสมหรือไม่ 

(3) ต้องมีการสร้างพลังละความมั่นใจของให้โค้ชชี่ในการไปยังเป้าหมาย โดยใช้วิธีการส่งเสริมการใช้จุดแข็ง และการสร้างกรอบแนวคิด (Mindset) ที่เหมาะสมเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ในการทำงาน

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นจุดร่วมของกระบวนการโค้ชชิ่งที่มาจากโค้ชหลายคนเข้าด้วยกัน แต่รายละเอียด เทคนิคที่โค้ชแต่ละคนใช้ย่อมแตกต่างกันไม่มากก็น้อย อย่างเช่น การตีความหมายผลการประเมินจุดแข็งของโค้ชชี่ที่แตกต่างกัน หรือแนวทางในการสัมภาษณ์หรือเก็บข้อมูลโค้ชชี่แตกต่างกัน ความแตกต่างนี้ย่อมส่งผลต่อข้อมูลที่นำมาพัฒนาศักยภาพของโค้ชชี่ที่ไม่เหมือนกัน และท้ายที่สุดจึงนำไปสู่การใช้เทคนิคการส่งเสริมจุดแข็งของโค้ชแต่ละคนที่แตกต่างกันไป

โดยสรุปแล้วกระบวนการโค้ชชิ่งนั้นได้รับการนำไปใช้ในองค์กรและธุรกิจมาอย่างยาวนานและได้นำวิธีการและแนวคิดใหม่ ๆ มาปรับใช้เพื่อให้การส่งเสริมศักยภาพของบุคคลมีประสิทธิภาพและตามความเปลี่ยนแปลงของผู้คนในสังคมมากขึ้น โค้ชชิ่งด้วยจิตวิทยาเชิงบวกเป็นหนึ่งในวิธีการที่ได้รับการคิดค้นใหม่ที่โค้ชนำมาใช้เพื่อให้โค้ชชี่มองเห็นจุดแข็งและศักยภาพทางบวกมากกว่าจุดด้อยของตนเอง ในอนาคตเมื่อมีความรู้และทฤษฎีทางจิตวิทยาใหม่ ๆ ที่อาจจะเข้ากันได้ดีกับโค้ชชิ่งและสามารถตอบสนองความต้องการพัฒนาตนเองของเหล่าโค้ชชี่ได้ในอนาคต

ผู้เขียน

MindAnalytica Team

MindAnalytica Team

เรื่องที่คุณอาจสนใจ