Mind Analytica

กระบวนการสร้างสรรค์ในการทำงาน

29 กุมภาพันธ์ 2567 - เวลาอ่าน 2 นาที
กระบวนการสร้างสรรค์ในการทำงาน

ผู้นำควรบริหารจัดการอย่างไรให้ผลงานสร้างสรรค์เป็นไปตามเป้าหมาย

ความคิดสร้างสรรค์ถือได้ว่าเป็นจุดขายที่สร้างผลกำไรให้กับธุรกิจ หลายองค์กรจึงลงทุนและพัฒนาบุคลากรเพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ความแปลกใหม่ ความเปลี่ยนแปลงเชิงบวก และสร้างความประทับใจกับผู้บริโภค ถึงแม้ว่าความคิดสร้างสรรค์จะถูกนับเป็นความสามารถส่วนบุคคลแต่ในมุมมองของผู้นำและผู้บริหารสามารถที่จะใช้กลยุทธ์อย่างไรเพื่อผลักดันให้บุคลากรขององค์กรเกิดความคิดสร้างสรรค์สามารถ

เมื่อกล่าวถึงความคิดสร้างสรรค์ในที่ทำงานสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่

  • ความคิดสร้างสรรค์แบบแปลกแยก (Radical creativity) หมายถึง ความคิดสร้างสรรค์ที่แตกต่างไปจากวิธีการเดิมอย่างสิ้นเชิงขององค์กรซึ่งนำไปสู่แนวทางหรือกระบวนการทำงานใหม่
  • ความคิดสร้างสรรค์แบบเพิ่มเติม (Incremental creativity) หมายถึง ความคิดสร้างสรรค์ที่ปรับเปลี่ยนในแนวทางเล็กน้อยและปรับปรุงวิธีการหรือผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิมขององค์กร

โดยที่ความคิดสร้างสรรค์ทั้งสองแบบนี้สามารถมาได้จากกระบวนการสร้างสรรค์ (Creative process) ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้

1. การกำหนดปัญหา (Problem construction) หมายถึง การระบุเป้าหมาย ข้อจำกัด ขั้นตอน และข้อมูลที่จำเป็นต่อการแก้ไขปัญหา 

2. การสืบค้นข้อมูลและลงรหัส (Information search and encoding) หมายถึง กระบวนการเชื่อมโยง บูรณาการ และทำให้ข้อมูลมีความหมาย

3. การผลิตไอเดีย (Idea generation) หมายถึง การสร้างทางเลือกต่าง ๆ ของวิธีการแก้ไขปัญหาหรือผลลัพธ์ การที่จะมาถึงกระบวนการสร้างสรรค์ในขั้นนี้ได้จำเป็นต้องมีข้อมูลที่เพียงพอ

ถึงแม้ว่าขั้นตอนทั้งสามขั้นในกระบวนการสร้างสรรค์นี้จะฟังดูสมเหตุสมผลโดยดำเนินการเป็นเส้นตรงตั้งแต่ขั้นกำหนดปัญหา สืบค้นข้อมูล และนำไปสู่การผลิตไอเดีย แต่หากสังเกตกระบวนการสร้างสรรค์ในโลกความเป็นจริงจะพบได้ว่า ขั้นตอนทั้งสามนี้มีความแยกขาดจากกันอย่างชัดเจน บุคคลบางบุคคลใช้ความคิดสร้างสรรค์ไปกับขั้นใดขั้นหนึ่งมากกว่าขั้นอื่น และแต่ละขั้นยังมีสาเหตุและผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไป

นักวิจัยจึงได้เริ่มตั้งข้อสังเกตว่าปัจจัยทางด้านบริบท (Contextual variables) โดยเฉพาะในบริบทการทำงานอาจส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์ของบุคลากรในบริษัทและองค์กรได้

ปัจจัยที่ 1 ความเป็นอิสระในการทำงาน (Autonomy) งานวิจัยในอดีตพบว่าความเป็นอิสระในการทำงานทำให้เกิดแรงจูงใจภายใน (Intrinsic motivation) ซึ่งนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ในงานอีกทอดหนึ่ง และในทางตรงกันข้ามความกดดันในการทำงานส่งผลให้มีแรงจูงใจในการทำงานที่น้อยลงและส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์ที่ต่ำลงเช่นกัน

ปัจจัยที่ 2 ความคาดหวังของผู้นำที่ต้องการให้ผู้ตามมีความคิดสร้างสรรค์ (Leader creative expectation) หมายถึง การที่บุคลากรสามารถรับรู้ได้ถึงความคาดหวังจากผู้นำที่ต้องการให้ตนใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน ซึ่งงานวิจัยหลายงานระบุว่าความคาดหวังดังกล่าวนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ของบุคลากรได้

จากงานวิจัยของ Gerben Tolkamp และคณะในปี 2022 ศึกษาต้นทางหรือปัจจัยที่ส่งผลต่อกระบวนการสร้างสรรค์ในแต่ละขั้นตอนพบว่าความคาดหวังของผู้นำต่อความสร้างสรรค์มีความสัมพันธ์กับขั้นการผลิตไอเดียเท่านั้น แต่ไม่ได้สัมพันธ์กับการการกำหนดปัญหาหรือการสืบค้นข้อมูล ส่วนความมีอิสระในการทำงานส่งผลต่อการกำหนดปัญหาเท่านั้นแต่ไม่ส่งผลต่อการสืบค้นข้อมูลหรือการผลิตไอเดีย

ในส่วนปลายทางหรือประเภทของความคิดสร้างสรรค์ที่มาจากกระบวนการสร้างสรรค์ในแต่ละขั้น พบว่าในขั้นผลิตไอเดียนั้นสัมพันธ์กับทั้งความคิดสร้างสรรค์แบบแปลกแยกและแบบเพิ่มเติม แต่ในขั้นการกำหนดปัญหาสัมพันธ์กับความคิดสร้างสรรค์แบบแปลกแยกเท่านั้น

โดยสรุปแล้วความคิดสร้างสรรค์ทั้งสองแบบไม่ว่าจะเป็นแบบแปลกแยกหรือแบบเพิ่มเติมนั้นสามารถสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรได้ ขึ้นอยู่กับทิศทางของผู้นำและองค์กร ถ้าหากผู้นำองค์กรที่ต้องการให้เกิดผลิตภัณฑ์หรือบริการที่แตกต่างไปจากตลาดจึงควรที่จะใช้วิธีการทำให้บุคลากรรับรู้ถึงความคาดหวังในความคิดสร้างสรรค์และยังให้อิสระในการทำงานเช่นกันเพื่อให้กระบวนการสร้างสรรค์นั้นมีทั้งการกำหนดปัญหาที่เหมาะสมและนำไปสู่การผลิตไอเดียที่แปลกแยกและแตกต่างในตอนสุดท้าย ในทางตรงกันข้ามหากผู้นำองค์กรต้องการให้มีการใช้ความคิดสร้างสรรค์เพิ่มเติมไปกับผลิตภัณฑ์เดิมในสัดส่วนที่ไม่มากนักอาจจะใช้วิธีการให้อิสระกับบุคลากรเพียงอย่างเดียวก็เพียงพอ

บทความต้นฉบับ

Tolkamp, G., Vriend, T., Verwaeren, B., Reiter-Palmon, R., & Nijstad, B. (2022). Disentangling the creative process: An examination of differential antecedents and outcomes for specific process elements. Journal of Business and Psychology, 37(6), 1329-1346.

ผู้เขียน

MindAnalytica Team

MindAnalytica Team

เรื่องที่คุณอาจสนใจ