Mind Analytica

ภาวะผู้นำแบบหลงตัวเอง

7 มีนาคม 2567 - เวลาอ่าน 1 นาที
ภาวะผู้นำแบบหลงตัวเอง

ต้องการเป็นคนที่ยิ่งใหญ่เพราะภายในที่เปราะบาง

ผู้นำเป็นปัจจัยสำคัญต่อองค์กรต่าง ๆ ตั้งแต่ภาคธุรกิจ ไปจนถึงผู้นำระดับประเทศ แต่ผู้นำจำนวนไม่น้อยที่มีลักษณะบางอย่างที่ไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมแต่ทำไปเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง รวมกับระบบความเชื่อในอำนาจและความยิ่งใหญ่ของตนเอง ผู้นำที่มีลักษณะเหล่านี้เรียกว่า ภาวะผู้นำแบบหลงตัวเอง

ภาวะผู้นำแบบหลงตัวเอง (Narcissistic leadership) โดยนิยามแล้ว หมายถึง การกระทำของผู้นำที่มีแรงจูงใจหลักมาจากความเชื่อและความต้องการเพื่อตนเองซึ่งเหนือกว่าความต้องการและความสนใจของผู้คนและสถาบันที่ตนเป็นผู้นำ

ประวัติศาสตร์ของ คำว่า ภาวะหลงตัวเอง ในภาษาอังกฤษมาจากคำว่า Narcissism มาจากตำนานกรีกโดยมีชายที่ชื่อว่า Narcissus ที่หลงใหลในหน้าตาของตนเอง คำว่าหลงตัวเองจึงได้นำมาใช้เรียกบุคคลที่หลงรักตัวเองทั้งในทางลุ่มหลง การแสดงออกความเข้มแข็งอย่างออกนอกหน้า ความมั่นอกมั่นใจ และในหลายครั้งที่แสดงออกถึงความเย่อหยิ่งทรนง และนอกจากจะชื่มชมเยินยอในความสามารถของตนเองแล้วยังคาดหวังความชื่นชมจากคนอื่น ๆ อีกด้วย

ความหลงตัวเองเป็นสิ่งที่ไม่ได้พบได้ยากในคนทั่วไป แต่ถ้าหากคนที่มีลักษณะแบบนี้เป็นผู้นำแล้วเป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือสมควรหรือไม่ จึงมีการเปิดประเด็นถกเถียงกันว่าความหลงตัวเองนั้นเป็นลักษณะทางบวกหรือทางลบทางใดทางหนึ่งมากกว่าหรืออาจจะมีทั้งประโยชน์และโทษในคนเดียวกัน

ข้อดีของภาวะผู้นำที่หลงตัวเอง

1. ความมีวิสัยทัศน์ (Visionary) จากการศึกษาพฤติกรรมของผู้นำที่มีความหลงตัวเองในประวัติศาสตร์ผู้นำเหล่านี้มักจะมีวิสัยทัศน์โดยเฉพาะด้านความรักชาติ คุณสมบัติด้านนี้มักจะแสดงออกให้เห็นในภาวะที่ประเทศหนึ่งกำลังเกิดวิกฤตไม่ว่าจะภายในหรือภายนอก และยังสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในประเทศที่ต้องการให้ประเทศกลับสู่ความสงบ

2. ความสามารถในการจูงใจคนกลุ่มมาก (Charisma) เช่นเดียวกันกับผู้นำประเภทอื่นความสามารถในการจูงใจเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดคนหนึ่งคนเป็นผู้นำขึ้นมา คุณสมบัตินี้แสดงออกได้หลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นลักษณะท่าที หรือการใช้วาทกรรม (Rhetoric) ที่น่าดึงดูดและตรงกับความคิดของผู้คนจึงสามารถดึงดูดคนกลุ่มนั้นได้เป็นจำนวนมาก

ข้อเสียของภาวะผู้นำที่หลงตัวเอง

1. ความหยิ่งทะนง (Arrogance) หรือการที่แสดงว่าตนเองนั้นมีความสำคัญหรือยิ่งใหญ่กว่าคนอื่น ซึ่งมีการศึกษาและพบว่าความเย่อหยิ่งนั้นส่งผลให้ผู้นำมีความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ไม่ดีสักเท่าไหร่ นอกจากนี้ยังไม่ค่อยตรวจสอบการรับรู้ความเป็นจริงของตนเองซึ่งส่งผลเสียอย่างมากต่อความพึงพอใจต่อสิ่งรอบตัวที่น้อย ความไม่ยืดหยุ่น และการขาดวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล

2. ความรู้สึกต่ำต้อย (Feeling of inferiority) ถึงแม้ว่าภายนอกคนที่หลงตัวเองจะทำตัวยิ่งใหญ่กว่าคนอื่น แต่ภายในใจแล้วรู้สึกว่างเปล่าและต่ำต้อย สิ่งทีแสดงออกต่อภายนอกนั้นเป็นกลไกป้องกันตนเอง (Defense machanism) ด้วยหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการรับเอาความสำเร็จที่เกิดขึ้นเป็นของตนเอง หรือการโทษความผิดพลาดทั้งหมดให้กับผู้อื่น

3. ความต้องการการเป็นที่จับจ้องและอยู่เหนือผู้อื่น (Insatiable need for recognition and superiority) อันเป็นผลมาจากความรู้สึกต่ำต้อย ผู้นำที่มีความหลงตัวเองจึงใช้วิธีการที่หลากหลายในการพิสูจน์ความยิ่งใหญ่เหนือใคร ทั้งการสร้างเป้าหมาย ความเชื่อ คำพูดไปกับความยิ่งใหญ่เกรียงไกร แต่ไร้ซึ่งความหมาย

4. ความอ่อนไหวและความโกรธที่ปะทุได้ง่าย (Hyper sensitivity and anger) เมื่อความยิ่งใหญ่ที่ตนรับรู้ได้รับการท้าทายจึงตอบสนองโกรธแบบที่ควบคุมไมไ่ด้ มีความแค้นเคืองอย่างมากต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ และยังรู้สึกไม่ผิดอะไรหากใช้วิธีการรุนแรงตอบโต้

5. การขาดความเข้าอกเข้าใจ (Lack of empathy) ขาดความเข้าใจในมุมมองของคนอื่น หรือมีภาวะทางอารมณ์ (Emotional intelligence) ที่ไม่สูงนัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้นำควรจะมี

6. การขาดศึลธรรม (Amorality) อย่างที่กล่าวไปว่าผู้นำที่หลงตัวเองมีแนวโน้มที่จะใช้วิธีการที่รุนแรงและโหดร้ายทั้งกับคนนอกและแม้กระทั่งผู้ตามของตนเอง

7. ความไร้เหตุผลและความไม่ยืดหยุ่น (Irrationality and inflexibility) ต่างจากผู้นำที่มีบุคลิกภาพแบบแมคคิเวลเลียน (Machiavellianism) ที่ใช้ประโยชน์จากผู้อื่น หรือเรียลโพลิทิค (Realpolitik) ที่เน้นเชิงปฏิบัติมากกว่าศีลธรรมหรืออุดมการณ์ ซึ่งทั้งสองแบบนี้ยังมีวิธีคิดที่มีเหตุผล

8. ความหวาดระแวง (Paranoia) ผู้นำที่มีความหลงตัวเองมีแนวโน้มที่จะสร้างศัตรูขึ้นมาเองโดยที่ไม่มีอยู่จริง ถึงแม้ว่าผู้นำต่าง ๆ จะมีผู้เห็นต่างหรือผู้ที่หวังร้าย แต่ผู้นำที่หลงตัวเองมักจะไม่ไว้วางใจ ปฏิเสธ และทำลายล้างผู้ที่ซื่อสัตย์ต่อตนเองที่สุด

โดยสรุปแล้วผู้นำแบบหลงตัวเองสามารถแยกได้จากผู้นำคนอื่นด้วยลักษณะที่ผู้นำให้ความสำคัญกับตนเอง รับเอาความสำเร็จเป็นของตนเอง โทษความผิดพลาดให้กับบุคคลอื่น และที่สำคัญคือการไม่ให้ความสำคัญกับบุคคลอื่น ผู้นำลักษณธนี้ในองค์มักจะนำไปสู่ปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างตัวผู้นำกับผู้ตามได้ในอนาคต รวมถึงผลเสียต่อจิตใจของผู้ตาม ในงานทางด้านทรัพยากรมนุษย์จึงควรที่จะตรวจให้พบตั้งแต่ต้นว่าผู้นำที่กำลังจะรับเข้ามาใหม่หรือผู้นำคนปัจจุบันในองค์กรมีลักษณะเป็นผู้นำแบบหลงตัวเองหรือไม่ เพื่อนำไปสู่กลยุทธ์ในการป้องกันและปรับปรุงผลที่อาจตามมา

บทความต้นฉบับ

Rosenthal, S. A., & Pittinsky, T. L. (2006). Narcissistic leadership. The leadership quarterly, 17(6), 617-633.

ผู้เขียน

MindAnalytica Team

MindAnalytica Team

เรื่องที่คุณอาจสนใจ