บุคลิกภาพกับพฤติกรรมการเงิน
22 มีนาคม 2567 - เวลาอ่าน 2 นาทีบุคลิกภาพต่างกันใช้เงินและลงทุนไม่เหมือนกัน
เมื่อกล่าวถึงการเงินและการลงทุนผู้คนจำนวนมากมักจะนึถึงสภาพแวดล้อมหรือปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นส่วนใหญ่ซึ่งส่งผลต่อค่าเงินหรือมูลค่าของหุ้นเอกชนต่าง ๆ แม้ปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจจะส่งผลอย่างมากต่อตลาดทุน พฤติกรรมของนักลงทุนแต่ละคนมีผลร่วมกันต่อมูลค่าและเม็ดเงินในการลงทุนสินทรัพย์ต่างๆ หลังจากการศึกษาอย่างละเอียดในสาขาที่เรียกว่า เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral economics) พบว่าการตัดสินใจของมนุษย์นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายอย่าง ทั้งที่ดูสมเหตุสมผลและในหลายครั้งกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม
มีปัจจัยภายหลายอย่างทั้งภายในที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการเงินของบุคคลมีหลายอย่างหนึ่งในนั้นคือบุคลิกภาพ (Personality) ซึ่งคือ รูปแบบของความคิด อารมณ์ แรงจูงใจ และพฤติกรรมของมนุษย์ซึ่งค่อนข้างที่จะฐาวรหรือเปลี่ยนแปลงได้ยาก โดยที่บุคลิกภาพสามารถมีได้หลายรูปแบบ
โมเดลด้านบุคลิกภาพมีมากมายที่ได้รับการศึกษามาตั้งแต่ในอดีต เริ่มต้นตั้งแต่ใช้โมเดลบุคลิกภาพในการวินิจฉัยอาการทางจิตเวชไปจนถึงการคัดเลือกบุคลากร ส่วนโมเดลที่ได้รับความนิยมและมีหลักฐานจากการวิจัยรองรับเพื่อศึกษาบุคลิกภาพในงานวิชาการนั่นคือโมเดลบุคลิกภาพแบบห้าองค์ประกอบ (Five factor personality model) ซึ่งประกอบไปด้วยบุคลิภาพทั้งหมดห้าด้านที่บุคคลแต่ละคนจะมีปริมาณมากน้อยแตกต่างกันไป ได้แก่
การเปิดรับประสบการณ์ใหม่ (Openness-to-experience)
การมีความรู้ผิดชอบ (Conscientiousness)
การชอบเข้าสังคม (Extraversion)
การเห็นพ้องกับผู้อื่น (Agreeableness)
การมีความมั่นคงทางอารมณ์ (Emotional stability)
นักวิจัยที่ศึกษาพฤติกรรมการเงิน (Financial behavior) ซึ่งหมายถึง การกระทำที่เกี่ยวข้องกับเงินตั้งแต่การใช้จ่าย การเก็บออม การลงทุน และการวางแผน เชื่อว่าบุคลิกภาพนั้นเป็นหนึ่งในหลายสาเหตุที่ทำให้บุคคลแต่ละคนมีพฤติกรรมทางการเงินที่แตกต่างกันไป
ผลการวิจัยของ Gokhan Ozer และ Ummuhan Mutlu เมื่อปีค.ศ. 2019 โดยมีกลุ่มตัวอย่างชาวตุรกีเป็นผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่าบุคลิกภาพด้านการมีความรู้ผิดชอบเป็นสาเหตุที่ทำให้บุคคลทำพฤติกรรมทางการเงินมากที่สุด รองลงมาคือการเห็นพ้องกับผู้อื่นและการเปิดรับประสบการณ์ใหม่ตามลำดับ ส่วนความมั่นคงทางอารมณ์และการชอบเข้าสังคมนั้นไม่มีผลต่อพฤติกรรมทางการเงิน
ส่วนงานวิจัยของ Teerapong Pinjisakikool จากมหาวิทยาลัยศิลปากรเมื่อปีค.ศ. 2018 ได้นำข้อมูลจากสัมมโนประชากรประเทศเนเธอร์แลนด์ของปีค.ศ. 2005 มาทำการศึกษาและพบว่าพฤิตกรรมด้านการเงินอย่างเช่น
การทนทานต่อความเสี่ยง (Finanical risk tolerance) นั้นมีความสัมพันธ์ทางบวกกับบุคลิกภาพแบบชอบเข้าสังคมและการเปิดรับประสบการณ์ใหม่ และมีความสัมพันธ์ทางลบกับการมีความรู้ผิดชอบ การเห็นพ้องกับผู้อื่น และการมีความมั่นคงทางอารมณ์
สัดส่วนระหว่างการลงทุนในตราสารหนี้และกองทุนรวม (Bond and mutual fund ratio) มีควาสัมพันธ์ทางลบกับบุคลิกภาพแบบชอบเข้าสังคม เมื่อปราศจากผลของการทนทานต่อความเสี่ยงแล้วเท่านั้น
สัดส่วนการลงทุนในหุ้น (Equity ratio) มีความสัมพันธ์ทางลบกับบุคคลิกภาพแบบมั่นคงทางอารมณ์
สัดส่วนเงินฝาก (Saving ratio) นั้นไม่พบความสัมพันธ์กับบุคลิกภาพด้านใดเลย
จากผลการวิจัยทั้งสองงานช่วยให้เห็นได้ว่าบุคลิกภาพที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลนั้นส่งผลให้มีพฤติกรรมทางการเงินรูปแบบต่าง ๆ ที่แตกต่างกันไป ซึ่งผลการวิจัยจะเป็นประโยชน์ตั้งแต่ผู้ให้คำแนะนำด้านการลงทุนในการที่จะให้คำแนะนำในการลงทุนประเภทต่าง ๆ แก่นักลงทุนตามบุคลิกภาพ หรือในขณะเดียวกันนักลงทุนอาจจะสามารถทำความรู้จักรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเองหลังจากทำแบบประเมินและรับทราบถึงบุคลิกภาพของตน เพื่อให้การลงทุนนั้นเป็นไปตามที่ตนเองต้องการมากที่สุด
อ้างอิง
Ozer, G., & Mutlu, U. (2019). The effects of personality traits on financial behaviour. Journal of Business Economics and Finance, 8(3), 155-164.
Pinjisakikool, T. (2018). The influence of personality traits on households’ financial risk tolerance and financial behaviour. Journal of Interdisciplinary Economics, 30(1), 32-54.