Mind Analytica

บุคลิกภาพกับคลื่นสมอง

5 เมษายน 2567 - เวลาอ่าน 1 นาที
บุคลิกภาพกับคลื่นสมอง

คลื่นสมองความถี่และตำแหน่งที่ต่างกันบ่งบอกบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน

เมื่อกล่าวถึงบุคลิกภาพของคนหนึ่งคน มักจะสามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมการแสดงออก คำพูดที่แสดงออก รวมไปถึงเนื้อหาในความคิด หรืออารมณ์ความรู้สึกที่เป็นแบบแผน สิ่งเหล่านี้มักจะค่อนข้างถาวรเปลี่ยนได้ยาก และที่สำคัญเมื่อสิ่งเหล่านี้เป็นคุณลักษณะของคนใดคนหนึ่ง ย่อมเป็นไปได้ที่บุคลิกภาพจะสัมพันธ์กับการทำงานของสมองของคน ดังนั้นบทความนี้จะเป็นประตูบานแรกที่เชื่อมโยงการศึกษาสมองของมนุษย์กับบุคลิกภาพเข้าด้วยกัน

ทฤษฎีบุคลิกภาพในยุคแรกเริ่มที่ทำการศึกษาบุคลิกภาพกับลักษณะทางกายวิภาคของสมองและร่างกายมนุษย์ โดยศึกษาเรื่องการตื่นตัว (Arousability) หรือระบบของสมองที่มีความไวต่อสัญญาณของรางวัลหรือการลงโทษ Hans Eysenck นักจิตวิทยาที่ศึกษาด้านบุคลิกภาพที่โด่งดังมากที่สุดคนหนึ่งได้เชื่อมโยงคุณสมบัติเหล่านี้เข้ากับทฤษฎีบุคลิกภาพของตนเอง พบว่า คุณสมบัติทางสมองที่ไวต่อรางวัลและการลงโทษเชื่อมโยงกับบุคลิกภาพด้านการชอบเข้าสังคม (Extraversion) และการมีความมั่นคงทางอารมณ์ (Emotional stability)

เทคโนโลยีหนึ่งที่สามารถสะท้อนการทำงานของสมองได้ คือ การบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalogram; EEG) โดยทำการติดตัวรับสัญญาณไฟฟ้าไว้ที่บริเวณผิวหนังของศีรษะซึ่งไม่ทำให้เกิดบาดแผลหรือความบาดเจ็บต่อผู้สวมใส่ ตัวรับสัญญาณไฟฟ้ามีตั้งแต่จำนวน 1 ตัว ไปจนถัง 256 ตัวรับสัญญาณ รูปแบบของอุปกรณ์จะมีลักษณะเป็นหมวกที่มีสายไฟจำนวนมากรับสัญญาณจากผนังศีรษะไปยังคอมพิวเตอร์

โดยทั่วไปแล้วสมองของมนุษย์จะมีการส่งสัญญาณสื่อสารระหว่างสมองแต่ละส่วนอยู่ตลอดเวลาในลักษณะของสัญญาณไฟฟ้า โดยที่ความถี่ของคลื่นสมองนั้นมีความสัมพันธ์กับประเภทของการทำงานของสมอง อย่างเช่น คลื่นแอลฟาเกิดขึ้นเมื่อบุคคลมีความผ่อนคลาย คลื่นเบตาเรียกได้ว่าเป็นคลื่นปกติขณะที่บุคคลกำลังตื่นอยู่ คลื่นแกมมาคือคลื่นที่เกิดขึ้นเมื่อบุคคลกำลังทำงานที่ใช้ความคิด

ด้วยลักษณะของคลื่นที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทางความคิดของบุคคลรวมกับตำแหน่งของสมองที่รับหน้าที่เกี่ยวกับพฤติกรรมที่แตกต่างกัน จึงมีเหตุผลที่เชื่อได้ว่าบุคลิกภาพย่อมมีความสัมพันธ์กับคลื่นสมองเช่นเดียวกัน

ในปี 1992 นักวิจัยด้านสมองชื่อว่า Sternberg จึงได้ทำการทดสอบโดยให้ผู้เข้าร่วมการทดสอบจินตนาการถึงสถานการณ์ทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกพึงพอใจและไม่น่าพึงพอใจแยกเป็นสองรอบ ผลพบว่า

  • คลื่นเบตาจากสมองส่วนพาไรเอทัล (Parietal beta) นั้นมีความเชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญกับบุคลิกภาพทั้งสองด้าน ได้แก่ บุคลิกภาพด้านการชอบเข้าสังคม เนื่องจากสมองส่วนนี้ทำหน้าที่ในการสอดส่องระหว่างที่บุคคลกำลังทำกิจกรรมอะไรบางอย่างซึ่งอนุมานได้ว่าเป็นการวัดระดับความตื่นตัวหรือการรักษาการเพ่งความใส่ใจ
  • คลื่นธีตาจากสมองส่วนหน้าฝั่งขวา (Right frontal theta) นั้นมีความเชื่อมโยงกับภาวะความวิตกกังวลที่สูงซึ่งเป็นหนึ่งในลักษณะของบุคลิกภาพด้านความมั่นคงทางอารมณ์ที่ต่ำ
  • คลื่นสมองเบตาจากสมองส่วนเทมโพรัล (Temporal beta) นั้นมีการทำงานทั้งในภาวะปกติและภาวะที่มีอารมณ์ทางบวกกรือลบเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยที่การทำงานของสมองส่วนนี้ในระดับที่สูงมีความเชื่อมโยงกับอารมณ์ทางบวกหรือบุคลิกภาพด้านการชอบเข้าสังคม ในขณะที่การทำงานในระดับต่ำมีความเชื่อมโยงกับอารมณ์ทางลบหรือบุคลิกภาพด้านความมั่นคงทางอารมณ์ที่ต่ำ

การใช้เครื่อง EEG ในการวัดบุคลิกภาพ แม้ว่าความรู้และงานวิจัยจะยังอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่เป็นวิธีการที่มีศักยภาพในอนาคตระยะยาวและสามารถที่จะสร้างความสนใจให้กับการประเมินทางจิตวิทยาด้วยคลื่นสมองเพื่อค้นหาบุคลิกภาพรวมไปถึงความสามารถด้านอื่น ๆ เนื่องจากปัญหาอย่างหนึ่งของการประเมินบุคลิกภาพด้วยแบบสอบถามคือความไม่ซื่อตรงของผู้เข้ารับการทดสอบซึ่งทำให้ผลการทดสอบบุคลิกภาพคลาดเคลื่อนและไม่ตรงกับความเป็นจริง ดังนั้นการใช้เครื่องมือวัดทางสมองจะช่วยป้องกันปัญหาดังกล่าวได้อย่างที่ประสิทธิภาพ

บทความต้นฉบับ

Stenberg, G. (1992). Personality and the EEG: Arousal and emotional arousability. Personality and Individual Differences, 13(10), 1097-1113.

ผู้เขียน

MindAnalytica Team

MindAnalytica Team

เรื่องที่คุณอาจสนใจ