Mind Analytica

จะโอเคไหมถ้าโพสต์ว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวลลงในโซเชียลมีเดีย

3 กรกฎาคม 2567 - เวลาอ่าน 1 นาที
จะโอเคไหมถ้าโพสต์ว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวลลงในโซเชียลมีเดีย

ผู้สัมภาษณ์งานคิดเห็นอย่างไรต่อบุคลิกภาพและประสิทธิภาพในการทำงาน

ในยุคที่ทุกคนใช้เวลากับโลกออนไลน์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ในการทำงานเช่นกันเจ้าของกิจการและบุคลากร HR ได้ใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้นในการหาข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมัครงานและบุคลากรปัจจุบันในองค์กร และเช่นเดียวกันผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กันบนโลกออนไลน์มากขึ้นโดยที่ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลง และผู้คนยังโพสเกี่ยวกับปัญหาทางสุขภาพจิตของตนเองบนสื่อออนไลน์กันอย่างมากขึ้นเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามบุคคลที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตยังคงได้รับการตีตราอยู่ทั้งในสังคมและที่ทำงาน ดังนั้นแล้วการที่ผู้คนโพสต์เรื่องปัญหาทางสุขภาพจิตบนโซเชียลมีเดียจะกระทบกับภาพลักษณ์ในการทำงานหรือไม่

อาจารย์ทางด้านจิตวิทยาสองท่าน Jenna McChesney จาก North Carolina State University และ Lori Foster Meredith College ประเทศสหรัฐอเมริกาจึงได้ทำการทดสอบในปีค.ศ. 2023 โดยให้ผู้ที่มีประสบการณ์ในการคัดเลือกและจ้างบุคลากรจำนวน 409 คน โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ได้อ่านโปรไฟล์ LinkedIn ซึ่งมีโพสต์เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าและวิตกกังวลของตนเอง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งจะไม่มีโพสต์เกี่ยวกับโรค หลังจากนั้นจึงทำการประเมินบุคลิกภาพของเจ้าของโปรไฟล์ด้านที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ได้แก่ ความมั่นคงทางอารมณ์ (Emotional stability) ความรับผิดชอบ (Conscientiousness) รวมถึงความสามารถในการทำงาน และพฤติกรรมที่แสดงความเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร หลังจากนั้นจะได้ทำการฟังบันทึกเสียงการสัมภาษณ์งานของเจ้าของโปรไฟล์เพื่อทำการประเมินแต่ละด้านอีกครั้งหนึ่ง โดยทั้งสองกลุ่มจะได้ฟังเสียงการสัมภาษณ์เดียวกัน ผลพบว่า

1. การโพสต์เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าและวิตกกังวลของตนในโปรไฟล์ LinkedIn ส่งผลทางลบต่อการที่ผู้ประเมินในการรับรู้บุคลิกภาพที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน อย่างเช่น ความมั่นคงทางอารมณ์ (Emotional stability) น้อยลง และความรับผิดชอบ (Conscientiousness) น้อยลง

2. โพสต์ดังกล่าวไม่ได้ส่งผลต่อความคาดหวังของผู้ประเมินรับรู้ต่อความสามารถในการทำงาน หรือพฤติกรรมที่แสดงความเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร

3. การได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้ที่โพสต์ข้อความเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าและวิตกกังวลส่งผลให้ผู้ประเมินมีการรับรู้บุคลิกภาพด้านความมั่นคงทางอารมณ์ที่สูงขึ้นเล็กน้อยอย่างมีนัยสำคัญ

โดยสรุปแล้วการเปิดเผยเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าและความวิตกกังวลในโปรไฟล์ LinkedIn รวมไปถึงโซเชียลมีเดียของตนส่งผลต่อความประทับใจของผู้ประเมิน โดยเฉพาะผู้ประกอบการและบุคลากร HR ที่มีบทบาทในการตัดสินใจด้านการคัดเลือกบุคลากรรับเข้าทำงาน โดยจะมองว่าบุคคลดังกล่าวมีบุคลิกภาพที่เกี่ยวกับการทำงานด้านความมั่นคงทางอารมณ์และความรับผิดชอบที่ไม่สูงนัก อย่างไรก็ตามโพสต์ประเภทนี้ไม่ได้ส่งผลต่อการรับรู้ว่าความสามารถในการทำงานของผู้โพสต์สูงหรือต่ำ และสุดท้ายในขั้นตอนการสัมภาษณ์งานจะเป็นตัวช่วยให้รับรู้รู้ว่าความมั่นคงทางอารมณ์ที่ถูกต้องมากขึ้น

บทความต้นฉบับMcChesney, J., & Foster, L. (2023). Is it# okaytosay I have anxiety and depression? Evaluations of job applicants who disclose mental health problems on LinkedIn. Journal of Business and Psychology, 39(3), 779–795

ผู้เขียน

MindAnalytica Team

MindAnalytica Team

เรื่องที่คุณอาจสนใจ