Mind Analytica

การอู้งาน การโดดงานสาเหุตที่แท้จริงอาจไม่ได้เกิดจากพนักงาน เรื่องปกติที่ต้องหาสาเหตุ

7 เมษายน 2566 - เวลาอ่าน 2 นาที
การอู้งาน การโดดงานสาเหุตที่แท้จริงอาจไม่ได้เกิดจากพนักงาน เรื่องปกติที่ต้องหาสาเหตุ

ในโลกอินเทอร์เนต ได้มีคลิปที่คนหนึ่งไปทำบัตรประชาชนแล้วเจ้าหน้าที่ยังไม่มาตอนเวลา 8:30 ที่เป็นเวลาเปิดงานแล้ว จนชาวเน็ตคอมเมนท์เสริมถึงพฤติกรรมการทำงานไม่เต็มเวลาของราชการจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการอู้งาน โดดงาน ไม่ได้มีเฉพาะประเทศไทย มีอยู่ทั่วโลก เช่น ผู้ตรวจการราชการของรัฐแคลิฟอร์เนียพบว่าพนักงานคนหนึ่งหลับในที่ทำงาน 3 ชั่วโมงต่อวัน และยังมีคนอื่นที่แอบออกไปนอกที่ทำงานในช่วงเวลางาน แม้ว่าการอู้งานเป็นเรื่องที่เกิดโดยทั่วไป แต่ถ้าองค์กรใดสามารถบริหารให้การอู้งานน้อย ก็มีโอกาสได้รับประสิทธิภาพในการทำงานสูงสุด

รูปแบบของการอู้งานมีหลากหลายรูปแบบ Harold และคณะ ในพ.ศ. 2564 ได้แบ่งรูปแบบการอู้งานโดดงานเป็น 5 ประเภท คือ

การพักเบรกโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือยาวกว่าที่กำหนดไว้,

การใส่ชั่วโมงการทำงานมากกว่าความเป็นจริง หรือโกงเวลาเข้าหรือออกงาน,

การเปลี่ยนความเร็วในการทำงานโดยตั้งใจ (เช่น แกล้งทำงานช้า เพื่อไม่ให้ได้รับงานเพิ่ม),

การเข้าสังคมมากเกินไป (เช่น พูดคุยในเรื่องส่วนตัวในช่วงงานมากเกินไป),

และใช้เวลางานไปทำอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับงาน จะสังเกตว่าการอู้งานในงานของผู้วิจัยนี้ ไม่รวมการมาสายหรือขาดงาน เนื่องจากเขามองการอู้งาน เป็นการที่พนักงานได้รับเงินเดือนโดยที่ไม่ได้ทำงานตามกติกาที่กำหนดไว้ การมาสายแล้วลงเวลาว่ามาสายถือว่าเป็นกฎเกณฑ์ที่ให้สายได้ตามเวลาที่กำหนดอยู่แล้ว

คำอธิบายเรื่องสาเหตุของการอู้งานของผู้วิจัย มีทั้งหมดสองแนวทาง สาเหตุแรก พนักงานรู้สึกถึงความไม่ยุติธรรม และเพื่อให้เกิดความยุติธรรมภายในใจ พนักงานจะลดการทำงานของตนเองลง เพื่อให้เทียบเท่ากับค่าตอบแทนที่ตนเองได้รับ อาจจะมีความคิดว่า ฉันทำให้เพียงเท่านี้ก็พอแล้ว บริษัทก็ไม่ได้ทำดีอะไรกับฉันสักเท่าไร

สาเหตุที่สอง สภาพแวดล้อมที่ภาระงานไม่เยอะ น่าเบื่อ บทบาทการทำงานไม่ชัดเจน สิ่งเหล่านี้ทำให้พนักงานไม่มีความรู้สึกว่างานเป็นของตนเอง ไม่รู้สึกว่าตนต้องรับผิดชอบงานอะไร หากไม่มีฉันก็ไม่เป็นอะไร จากงานวิจัยพบว่าสภาพของงานมีผลต่อการอู้งานมากกว่าสภาวะทางจิตใจของพนักงานเองอย่างมาก 

จากงานวิจัยนี้ทำให้คิดในมุมกลับได้ว่า การที่พนักงานอู้งาน เกิดจากตัวพนักงานที่ขี้เกียจเอง หรือเกิดจากงานที่ไม่ชัดเจน ตั้งคำถามได้อีกแบบว่า การที่พนักงานอู้งานเกิดจากพนักงานไม่อยากทำงาน หรืองานไม่จำเป็นต้องมีเขาก็ได้ ดังนั้น การออกแบบงาน การออกแบบค่าตอบแทนจึงเป็นเรื่องสำคัญ หากพนักงานรู้ว่างานที่ตนได้รับคืออะไร ทำแล้วจะเกิดผลอะไร หากทำไม่สำเร็จจะเกิดผลอะไร การกำหนดผลตอบแทนที่ชัดเจนทำให้พนักงานเลือกที่จะทำงานมากกว่าอู้งาน เพราะทำงานขยันแล้วได้เงินตามที่ขยัน หากงานจ่ายเป็นรายเดือน รายชั่วโมง ทำงานหนักงานเบาแล้วพนักงานได้เงินเหมือนกัน พนักงานจำเป็นต้องทำงานหนักหรือไม่?

แท้จริงแล้ว พนักงานที่ไม่อู้งานคือพนักงานที่มีแรงจูงใจในการทำงาน แล้วพนักงานแบบใดที่มีแรงจูงใจในการทำงาน คำตอบของคำถามนี้มีเยอะมาก เรื่องแรงจูงใจในการทำงานสามารถอธิบายได้จนเป็นวิชาเรียนวิชาหนึ่งได้เลย ปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงจูงใจในการทำงานที่ดีที่สุดคือค่าตอบแทนซึ่งอธิบายไปในย่อหน้าที่ผ่านมา แล้วพอมีแรงจูงใจรูปแบบอื่นหรือไม่ที่จูงใจให้พนักงานทำงาน ไม่อู้งาน MindAnalytica ได้สร้างแบบทดสอบเพื่อสำรวจแรงจูงใจในการทำงาน แบบสำรวจนี้วัดแรงจูงใจ 4 ด้าน คือ แรงจูงใจใฝ่สำเร็จ แรงจูงใจใฝ่สัมพันธ์ แรงจูงใจใฝ่อำนาจ และแรงจูงใจใฝ่อิสระ แบบสำรวจนี้จะทำให้นายจ้างเข้าใจแรงจูงใจในการทำงาน ว่าทำอย่างไรให้พนักงานแต่ละคนอยากทำงาน ไม่อู้งาน

ผู้เขียน

MindAnalytica Team

MindAnalytica Team

เรื่องที่คุณอาจสนใจ