Mind Analytica

ทำความเข้าใจเบื้องลึกเบื้องหลังของกระบวนการเรียนรู้ skill ของมนุษย์

9 มีนาคม 2565 - เวลาอ่าน 2 นาที
ทำความเข้าใจเบื้องลึกเบื้องหลังของกระบวนการเรียนรู้ skill ของมนุษย์

Key Takeaways

  • กระบวนการเรียนรู้หรือการได้มาซึ่งทักษะ (Skill acquisition) มี 3 ขั้น ได้แก่
    ขั้นเผชิญทางความคิด ขั้นสะสมความรู้ และขั้นกระบวนการ
  • กระบวนการเรียนรู้ทั้ง 3 ขั้น มีความซับซ้อนน้อยลงตามและอาศัยความเร็วมากขึ้นลำดับ
  • เบื้องหลังการได้มาซึ่งทักษะในแต่ละขั้นคือความสามารถพื้นฐาน (Abilities) ประกอบด้วย 
    1) ขั้นเผชิญทางความคิดอาศัยความสามารถทางปัญญา (General cognitive abilities) 
    2) ขั้นสะสมความรู้อาศัยความเร็วในการประมวลผล (Perceptual speed)
    3) ขั้นกระบวนการอาศัยความเร็วทางทักษะพิสัย (Psychomotor speed)
  • ถึงแม้กลไกเบื้องหลังการได้มาซึ่งทักษะจะมีส่วนสำคัญในขั้นแรกแต่การฝึกฝนจะมีผลมากขึ้นในขั้นถัดไป

ทักษะหรือ skills เป็นหัวข้อที่ถูกพูดถึงในอย่างกว้างขวาง แต่ที่เห็นพบได้มากที่สุดคงจะหนีไม่พ้นหัวข้อการพัฒนาตนเองหรือการทำงาน บทความในโลกออนไลน์จำนวนมากพยายามที่จะสื่อสารให้เห็นว่าทักษะที่สำคัญในโลกปัจจุบันนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรและควรที่จะเรียนรู้ทักษะเหล่านี้ไว้เพื่อให้สามารถตามกระแสของโลกได้ทันท่วงที ถ้าหากคุณเป็นหนึ่งคนที่มีเป้าหมายว่าจะต้องเรียนรู้ทักษะที่สดใหม่สมัยนิยม แต่ยังไม่เข้าใจว่าการเรียนรู้ทักษะนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ภายในบทความนี้จะนำเสนอให้เห็นว่ากลไกภายใต้การเรียนรู้ทักษะของมนุษย์นั้นมีการทำงานอย่างไร และความสามารถทางปัญญาที่แตกต่างของแต่ละบุคคลส่งผลต่อการเรียนรู้ทักษะอย่างไร

เริ่มต้นจากทักษะคืออะไร

นักวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับทักษะของมนุษย์ได้ให้เสนอเอาไว้ว่าทักษะมีส่วนประกอบ 3 ส่วนด้วยกัน

1. ทักษะสามารถเป็นได้ทั้งสิ่งที่อยู่ภายนอกและภายใน ในช่วงแรกวงการวิชาการนิยามทักษะในมุมมองของพฤติกรรมภายนอกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เช่น ทักษะการเล่นเทนนิส แต่ในภายหลังนักจิตวิทยาเริ่มสังเกตว่าทักษะสามารถเกิดขึ้นภายในใจได้ อย่างเช่น ทักษะการเล่นหมากรุก ทักษะทางคณิตศาสตร์ หรือการให้เหตุผลเชิงเปรียบเทียบ

2. ทักษะเป็นสิ่งที่เกิดจากการเรียนรู้ หมายความว่า บุคคลสามารถมีทักษะที่ยังไม่มีประสิทธิภาพในตอนแรกเริ่ม จนกระทั่งได้รับการฝึกฝนทักษะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเป็นลำดับขั้น

3. ทักษะเป็นสิ่งที่มีเป้าหมาย ทักษะเป็นการบูรณาการการกระทำหลายอย่างเข้าด้วยกันเพื่อเป้าหมายที่ชัดเจนซึ่งแตกต่างจากสิ่งที่ทำจนเป็นนิสัย และที่สำคัญทักษะบางอย่างถึงแม้จะอยู่ภายในแต่การที่จะได้มาซึ่งเป้าหมายนั้นจำเป็นต้องแสดงออกผ่านการกระทำภายนอก อย่างเช่น นักเล่นหมากรุกจะแสดงทักษะหมากรุกออกมาได้นั้นจำเป็นที่จะต้องแสดงออกผ่านการเคลื่อนตัวหมาก เป็นต้น

มนุษย์มีการเรียนรู้ทักษะอย่างไร

นักวิชาการที่ทำการศึกษาเรื่องกระบวนการได้มาซึ่งทักษะใหม่ (Skill acquisition) ของมนุษย์ทำการแบ่งกระบวนการนั้นออกเป็น 3 ขั้น ได้แก่ 

ขั้นที่ 1 เผชิญทางความคิด (Declarative stage) เมื่อบุคคลได้รับการชี้แนะข้อมูลหรือความรู้เกี่ยวกับทักษะ

ขั้นที่ 2 สะสมความรู้ (Knowledge compilation stage) เป็นขั้นที่บุคคลทำการฝึกฝนความรู้ที่ได้มา

และขั้นที่ 3 กระบวนการ (Procedural stage) ขั้นสุดท้ายเมื่อความรู้ได้ถูกนำไปใช้อย่างเหมาะสมและสามารถใช้ความรู้นั้นได้อย่างเร็วขึ้นตามลำดับ

ถ้าหากบุคคลมีกระบวนการเรียนรู้แบบเดียวกันแล้วทำไมแต่ละบุคคลถึงมีความเร็วในการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน

งานวิจัยของ Phillip Ackerman ในปีค.ศ. 1987 ได้ทำการศึกษาความแตกต่างระหว่างบุคคลที่ส่งผลต่อการได้มาซึ่งทักษะ และเสนอว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการได้มาซึ่งทักษะแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ คือการฝึกฝนและความสามารถพื้นฐาน

กระบวนการเรียนรู้หรือการได้มาซึ่งทักษะนั้นมีกลไกที่แตกต่างกันในแต่ละขั้นหรืออาจเรียกได้ว่าใช้ความสามารถ (Ability) คนละประเภทกัน ความสามารถที่อยู่ภายใต้การเรียนรู้ในแต่ละขั้นประกอบด้วยกัน 3 ประเภท ได้แก่

1. ความสามารถทางปัญญาโดยทั่วไป (General cognitive abilities) ซึ่งความสามารถนี้สะท้อนถึงศักยภาพที่อยู่เบื้องหลังการประมวลผลข้อมูลของมนุษย์ในหลายรูปแบบและสถานการณ์ ความสามารถทางปัญญานี้ทำงานเกี่ยวข้องกับการทำความเข้าใจโดยภาพรวมของข้อมูลหรือความรู้ที่ได้รับมาในขั้นแรกของการเรียนรู้คือขั้นเผชิญทางความคิด

2. ความเร็วในการรับรู้ (Perceptual speed) หรือบางครั้งเรียกว่าความเร็วในการประมวลผล (Processing speed) คือความเร็วในการคิดเมื่อบุคคลได้รับมอบหมายงานที่เน้นการใช้ความคิด โดยที่ความเร็วในการคิดนั้นไม่ได้เป็นผลมาจากระดับความยากง่ายของงานแต่เป็นความแตกต่างส่วนบุคคล ความเร็วในการรับรู้นี้ส่งผลต่อการฝึกฝนความรู้ในขั้นสะสมความรู้

3. ความเร็วทางทักษะพิสัย (Psychomotor speed) คือความเร็วในการตอบสนองทางกายภาพหรือกล้ามเนื้อต่องานที่ได้รับมอบหมายโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการคิด ซึ่งจะมีผลอย่างมากในขั้นกระบวนการที่มนุษย์แสดงออกทักษะผ่านทางกายภาพ

ถ้าหากพิจารณาตามลำดับของซับซ้อน (level) และความเร็ว (speed) จะเห็นได้ว่า ในขั้นแรกสุดเป็นขั้นที่บุคคลใช้ความสามารถในการคิดหรือทำความเข้าใจซึ่งเป็นขั้นซับซ้อนมากที่สุดจึงอาศัยความสามารถทางปัญญาโดยทั่วไปของบุคคลในการที่จะประมวลผลข้อมูลหรือความรู้เหล่านั้น เมื่อเกิดความเข้าใจจึงนำไปสู่ขั้นสะสมความรู้ซึ่งเป็นการฝึกฝนซึ่งมีความซับซ้อนที่น้อยลงและใช้ความเร็วที่มากขึ้นจึงอาศัยความเร็วในการประมวลผลข้อมูล และในขั้นสุดท้ายเมื่อบุคคลนำความรู้ไปใช้ซึ่งใช้ความเร็วทางมากกว่าความซับซ้อนจึงอาศัยความเร็วทางทักษะพิสัย

จากกระบวนการที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่าความซับซ้อนลดลงตามลำดับและอาศัยความเร็วทั้งในการคิดและทางกายภาพมากขึ้นซึ่งสองอย่างหลังเกิดขึ้นได้จากการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอจนกระทั่งทักษะนั้นสามารถใช้งานทักษะเป้าหมายได้อย่างคล่องแคล่ว ถึงแม้บุคคลที่ไม่ถนัดหรือไม่โดดเด่นด้านการคิดแต่การฝึกฝนจะสามารถช่วยให้การเรียนรู้นั้นได้ไปสู่เป้าหมายของทักษะที่ต้องการได้เช่นกัน

ความรู้ทางทฤษฎีที่เกิดขึ้นจากการรวบรวมโดยนักวิชาการจำนวนมากช่วยให้เราสามารถเข้าใจถึงกลไกเบื้องหลังการได้มาซึ่งทักษะ ถึงแม้ระยะเวลาจะผ่านมานานหลายสิบปีแต่กลไกการเรียนรู้ทักษะของมนุษย์ยังคงไม่ต่างไปจากเดิม ความรู้เกี่ยวกับกลไกนี้จะเป็นส่วนช่วยในการเปิดโอกาสให้ผู้ที่แสวงหาและต้องการเรียนรู้ทักษะในยุคปัจจุบันได้เข้าใจและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในการทำงานและตลอดทุกช่วงของชีวิต

ผู้เขียน

MindAnalytica Team

MindAnalytica Team

เรื่องที่คุณอาจสนใจ