Mind Analytica

สัมภาษณ์โดย AI: วิธีการคัดกรองบุคลากรอย่างรวดเร็ว

8 พฤษภาคม 2566 - เวลาอ่าน 1 นาที
สัมภาษณ์โดย AI: วิธีการคัดกรองบุคลากรอย่างรวดเร็ว

การสัมภาษณ์เป็นกระบวนการคัดเลือกบุคลากรที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย และเป็นกระบวนการที่มีมาตรฐานแตกต่างกันไป ตั้งแต่การสัมภาษณ์ที่ใช้การพูดคุย รู้จักกันเฉยๆ แล้วใช้สัญชาติญาณในการตัดสินใจว่าจะรับผู้สมัครคนนี้หรือไม่ จนไปถึงการมีคำถามเป็นโครงสร้างและการให้คะแนนชัดเจน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการสัมภาษณ์ไม่สามารถทำกับผู้สมัครพร้อมกันทุกคนได้ ส่วนใหญ่จึงใช้สำหรับผู้สมัครในรอบสุดท้ายหรือเกือบสุดท้ายเท่านั้น แต่ด้วยเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทำให้สามารถสัมภาษณ์ผู้สมัครได้ตั้งแต่ขั้นตอนแรกๆ ในการคัดเลือก 

หลักการสัมภาษณ์โดย AI คือ ให้ผู้สมัครตอบคำถามจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจจะมีคำถามเดียวหรือหลายคำถาม โปรแกรมจะบันทึกภาพและเสียงของคำตอบลงในระบบ แน่นอนเสียงคำตอบที่ได้จะถูกบันทึกในระบบเป็นข้อความ นอกจากนี้ น้ำเสียง การเว้นวรรค ความคมชัดของเสียง รวมถึงลักษณะท่าทางของศีรษะ สีหน้าการแสดงออกรูปแบบต่างๆ จะถูกบันทึกด้วย ข้อความคำตอบ ลักษณะของเสียง และลักษณะของท่าทางสีหน้า จะถูกนำไปทำนายคุณลักษณะภายในบุคคลที่ผู้พัฒนาต้องการ เช่น บุคลิกภาพ ความเป็นผู้นำ ความคิดสร้างสรรค์ หรือไปใช้ทำนายตัวแปรที่ต้องการโดยตรง เช่น ผลการปฏิบัติงาน แนวโน้มการลาออก เป็นต้น

การสัมภาษณ์โดย AI เป็นที่นิยมมากในประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัทที่ปรึกษาบางแห่งอ้างว่าได้ใช้การสัมภาษณ์โดย AI มากกว่า 1 ล้านครั้งในปี 2562 วิธีการนี้เป็นที่นิยมเนื่องจากประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการสัมภาษณ์จริงมาก และเชื่อว่าสามารถได้ข้อมูลคุณลักษณะภายในบุคคลได้อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม หลักฐานว่าการสัมภาษณ์โดย AI สามารถวัดในสิ่งที่ต้องการได้จริงยังไม่ชัดเจนนัก เช่น หากข้อมูลวัดซ้ำสองครั้งโดยทิ้งระยะเวลาระหว่างสองครั้งระยะหนึ่งแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างคะแนนทั้งสองเวลาไม่สูงนัก การประเมินบุคลิกภาพด้วย AI จะไม่สอดคล้องกับบุคลิกภาพที่ประเมินโดยผู้ถูกสัมภาษณ์ (ผ่านแบบทดสอบบุคลิกภาพทั่วไป) แต่ไปสอดคล้องกับการประเมินบุคลิกภาพจากผู้ประเมินผลการสัมภาษณ์ ซึ่งทำให้น่าตั้งคำถามว่าผลคะแนนจากการสัมภาษณ์ด้วย AI สะท้อนบุคลิกภาพของผู้สมัครได้จริงๆ หรือไม่ หรือว่าเป็นการสะท้อนว่าคำตอบที่ได้ไปในทิศทางใดเท่านั้น ไม่ได้สะท้อนถึงเนื้อในบุคคลจริงๆ

แม้จะมีหลักฐานที่ทำให้นักวิชาการกังวล แต่ด้วย AI พัฒนาอย่างก้าวกระโดดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รวมถึงผู้พัฒนาเริ่มเรียนรู้วิธีการสร้างคำถาม ว่าถามอย่างไรถึงได้ผล รวมถึงได้ข้อมูลในการมาฝึกฝน (Train) โมเดลการสัมภาษณ์มากขึ้น ทำให้นักวิจัยมีหวังว่าการสัมภาษณ์โดย AI จะได้ผลดี หากทำได้ถูกต้อง นอกจากนี้ เทคโนโลยีของการฝึกฝน AI ก็พัฒนามากขึ้น จากเดิมใช้วิธีการนับคำในการวิเคราะห์ภาษา ปัจจุบันสามารถใช้โมเดลภาษา เช่น BERT, GPT (ตัวแม่ของ ChatGPT) มาช่วยวิเคราะห์ได้ นอกเหนือจากคำที่พูดแล้ว การจับน้ำเสียง สีหน้าก็พัฒนามากขึ้นมาก ทำให้ข้อมูลที่ถูกดึงมาจากคลิปวีดีโอจากผู้สมัครเยอะขึ้น ด้วยสัญญาณของพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยี ทำให้การสัมภาษณ์โดย AI น่าจะเป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกในอนาคต

การนำไปใช้เชิงปฏิบัติ สำหรับวิชาชีพทรัพยากรบุคคล น่าจะเริ่มเก็บข้อมูลการสัมภาษณ์พนักงานโดยอัดคลิปไว้ แล้วพยายามให้คลิปนั้นเห็นเสียง และสีหน้าท่าทางอย่างชัดเจน การสัมภาษณ์ควรมีโครงสร้างระดับหนึ่ง ที่มีคำถามมาตรฐานสำหรับผู้ถูกสัมภาษณ์ทุกคน ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นวัตถุดิบอย่างดี ในการนำไปใช้ฝึกฝนโมเดล AI ในอนาคต หากเก็บข้อมูลได้ดี จะส่งผลให้โมเดล AI ที่ได้ออกมาแม่นยำมากขึ้น สำหรับผู้ถูกสัมภาษณ์ด้วย AI ต้องฝึกพูดตอบคำถามต่างๆ ด้วยเวลาที่จำกัด การฝึกฝนจะช่วยให้คุณไม่ประหม่า และจะทำให้ท่าทางการตอบสบายๆ มากขึ้น คำตอบจะเป็นระบบมากขึ้น ส่งผลทางบวกทำให้ AI ประเมินศักยภาพของคุณได้จริงๆ ไม่ได้หักคะแนนจากความประหม่าต่างๆ

บริการจาก MindAnalytica ปัจจุบันกำลังทดลองพัฒนาบริการสัมภาษณ์ด้วย AI เวอร์ชันภาษาไทยโดยเฉพาะ หากผู้นำองค์กรหรือ HR ท่านใดให้ความสนใจในบริการ AI สัมภาษณ์งาน สามารถติดต่อได้ผ่านทางเว็บไซต์หรือ Facebook

ผู้เขียน

MindAnalytica Team

MindAnalytica Team

เรื่องที่คุณอาจสนใจ