ใช้วิธีประเมินผลงานแบบไม่เป็นทางการและเน้นผลลัพธ์เพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของบุคลากร
17 กรกฎาคม 2566 - เวลาอ่าน 1 นาทีการประเมินผลการปฏิบัติงานเป็นสิ่งที่องค์กรต่างใช้อยู่ทั่วไปในการบริหารทรัพยากรบุคคล ข้อมูลจากการประเมินผลการปฏิบัติงานจะถูกนำไปใช้ในการตัดสินใจหลายด้านไม่ว่าจะเป็น การปรับเงินเดือน การให้โบนัส การเลื่อนขั้น การฝึกฝน การประเมินผลงานเป็นวิธีการหนึ่งที่องค์กรใช้ในการสื่อสารกับพนักงานของตน ว่าองค์กรต้องการอะไรจากพนักงาน และมีหลักฐานมากมายที่บอกว่า รูปแบบการประเมินผลงานสามารถปรับพฤติกรรมของพนักงานในองค์กรได้จริง
Curzi และคณะได้สำรวจพนักงานในปี 2562 จำนวน 865 คน ว่ารูปแบบการประเมินผลการปฏิบัติงานแบบใด ที่ทำให้พนักงานรู้สึกว่าการประเมินผลส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมสร้างสรรค์ในองค์กร ผู้วิจัยพบว่าการประเมินผลแบบ “ไม่เป็นทางการ” โดยให้ผู้บังคับบัญชาให้ข้อมูลป้อนกลับ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์มากกว่าการประเมินแบบเป็น “ทางการ” ที่ให้ผู้บังคับบัญชาให้คะแนนผ่านข้อคำถามต่างๆ ในมุมหนึ่งการประเมินแบบเป็นทางการจะช่วยให้พนักงานเข้าใจว่า องค์กรให้ความสำคัญกับสิ่งใด ต้องการพฤติกรรมใดจากพนักงาน แต่ความเป็นทางการเหล่านี้อาจทำให้ผู้ประเมินไปเน้นถึงคะแนนและผลของการให้คะแนน มากกว่าการสร้างสรรค์ให้เกิดการพัฒนาผลงาน มองการประเมินเป็นงานประจำ มากกว่าเป็นเครื่องมือในการพัฒนาผลงาน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่พนักงานมองว่าการประเมินแบบไม่เป็นทางการโดยการรับข้อมูลป้อนกลับจากหัวหน้าจะมีประโยชน์ต่อการพัฒนางานมากกว่าและทำให้เกิดสิ่งสร้างสรรค์มากกว่า
นอกจากนี้ การประเมินผลงานโดยเน้นที่ผลลัพธ์ อย่างเช่น ตั้งเป้าหมายว่าจะทำโครงการอะไรสำเร็จบ้าง ตั้งเป้าว่าคะแนนประเมินจากลูกค้าสูงในระดับใด จะส่งผลให้พนักงานเข้าใจว่าเป็นการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์มากกว่าการประเมินผลงานที่เน้นพฤติกรรมการทำงาน เช่น การขาดลามาสาย วินัยการทำงาน การเชื่อฟังคำสั่งหัวหน้า เป็นต้น การประเมินจากพฤติกรรมการทำงานจะเป็นกรอบแนวทางปฏิบัติ ที่ทำให้พนักงานไม่สามารถทดลองแนวทางใหม่ได้ ซึ่งต่างจากการเน้นผลลัพธ์ที่พนักงานอาจมีความคิดริเริ่มในการทำแนวทางใหม่ที่องค์กรมองว่าเป็นประโยชน์ถ้าหากยังคงได้ผลลัพธ์ที่ดีเช่นเดิม ยิ่งกว่านั้นหากพนักงานได้มีส่วนร่วมในการสร้างเป้าหมายและนำไปใช้ในการประเมินผลงาน พนักงานจะยิ่งมองว่าบรรยากาศทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
การประเมินผลงานที่เน้นประเมินว่าพนักงานได้เรียนรู้ทักษะหรือสมรรถนะใหม่หรือไม่ ทำหน้าที่เป็นส่วนกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์เช่นกัน เพราะเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เน้นการเรียนรู้ และการได้เรียนรู้สิ่งใหม่ย่อมทำนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ โดยใช้ไอเดียใหม่ที่ได้จากเรียนรู้และสิ่งแวดล้อมที่แสดงให้เห็นว่าเปิดกว้างให้พนักงานได้เรียนรู้และพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้น
โดยสรุปแล้ว รูปแบบการประเมินผลงานแบบไม่เป็นทางการหรือเน้นที่ผลลัพธ์ทำให้พนักงานรับรู้ว่าองค์กรสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ การเน้นให้ข้อมูลป้อนกลับ การพูดคุยกันระหว่างหัวหน้าลูกน้องในการพัฒนางาน การเน้นการประเมินที่ผลลัพธ์ หรือทักษะที่เพิ่มขึ้น ทำให้พนักงานมีแรงจูงใจในการทำสิ่งที่สร้างสรรค์ การปรับกระบวนการประเมินผลรูปแบบเหล่านี้ เป็นการสื่อสารต่อพนักงานอย่างตรงไปตรงมา ว่าองค์กรเปิดโอกาสในการมีความคิดสร้างสรรค์ ย่อมดีกว่าการสร้างวิสัยทัศน์ที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์ แต่ยังประเมินผลงานเน้นเฝ้าติดตามพฤติกรรมทำงานของพนักงาน