อนุกรมวิธานของอารมณ์
7 สิงหาคม 2566 - เวลาอ่าน 1 นาทีอารมณ์ หมายถึง ปฏิกิริยาที่มนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ มีต่อเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่หลากหลาย ปฏิกิริยาเหล่านั้นประกอบด้วยส่วนประกอบหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ความรู้สึก (ทางบวกหรือลบ) ความคิด (เช่น คาดการณ์อนาคตไปในทางดีหรือร้าย) หรือปฏิกิริยาทางกาย (เช่น ปากสั่น มือสั่น ตาเบิกกว้าง) การแสดงออกทางอารมณ์ของแต่ละบุคคลโดยเฉลี่ยมีความแตกต่างกันไป บางบุคคลโดยทั่วไปเกิดอารมณ์โกรธได้ง่าย บางบุคคลโดยทั่วไปจะนิ่งเฉยสบาย ๆ นอกจากนี้ภายในบุคคลยังมีปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ที่ต่างกันด้วย อนุกรมวิธานของอารมณ์ (Emotion Taxonomy) จึงเป็นการจักดลุ่มประเภทของอารมณ์ที่แตกต่างกันเข้าเป็นเป็นประเภทต่าง ๆ บทความนี้จึงต้องการนำเสนอให้เห็นวิธีการแบ่งอารมณ์ของมนุษย์เมื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่แตกต่างกันและส่งผลลัพธ์ต่อการดำเนินชีวิต (Achievement Emotion)
งานวิจัยของกลุ่มนักจิตวิทยาที่ศึกษาด้านอารมณ์ของมนุษย์ที่นำโดย Pekrun และคณะ ในปี 2566 ได้นำเสนอว่าอารมณ์ของมนุษย์ที่มีต่อเหตุการณ์ที่เป็นผลตามมาจากการกระทำของตัวบุคคล สามารถแบ่งออกมาได้ 3 มิติ คือ
(1) ด้านความรู้สึก (Valence) จะแบ่งออกเป็น ความรู้สึกทางบวก เช่น ตื่นเต้น ภูมิใจ และความรู้สึกทางลบ เช่น สิ้นหวัง เบื่อ
(2) ด้านความตื่นตัว (Arousal) จะแบ่งเป็น ความตื่นตัวต่อสถานการณ์ เช่น มีหวัง โกรธ กังวล และเมื่อออกห่างจากสถานการณ์ เช่น สบายใจ เบื่อ สิ้นหวัง
(3) จุ่งมุ่งหมายของการแสดงอารมณ์ จะแบ่งออกเป็น การแสดงออกอารมณ์เพื่อกิจกรรมที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบัน เช่น เพลิน เบื่อ, การแสดงออกอารมณ์ต่อผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น กังวล หวัง สบายใจ, และการแสดงออกอารมณ์ต่อผลลัพธ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เช่น ภูมิใจ โล่งอก อับอาย
ทั้งสามมิติสามารถประกอบกันเป็นอารมณ์ด้านต่างๆ 12 รูปแบบดังนี้
ทางบวก | ทางลบ | |||
ตื่นตัว | ไม่ตื่นตัว | ตื่นตัว | ไม่ตื่นตัว | |
กิจกรรมในปัจจุบัน | เพลิดเพลิน, ตื่นเต้น | นิ่งเฉยสบาย ๆ | โกรธ, คับข้องใจ | เบื่อ |
ผลลัพธ์ในอนาคต | มีความหวัง, คิดแล้วตื่นเต้น | วางใจ | กังวล | สิ้นหวัง |
ผลลัพธ์ในอดีต | ภูมิใจ, คิดถึงวันวาน, ขอบคุณ | โล่งอก | อับอาย, รู้สึกผิด, โกรธ | ผิดหวัง, เศร้า |
การศึกษาอนุกรมวิธานของอารมณ์เริ่มต้นด้วยการให้กลุ่มตัวอย่างทำแบบสอบถามเกี่ยวกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ต่อเหตุการณ์ที่มีผลลัพธ์ต่อการดำเนินชีวิต (Achievement Emotion) เช่น แบบสอบถามในกลุ่มนักศึกษาจะเกี่ยวข้องกับด้านการเรียน ขณะที่แบบสอบถามในกลุ่มวัยทำงานจะเกี่ยวข้องกับหน้าที่การงาน
ผลการวิจัยให้ผลลัพธ์ที่ตรงตามที่สมมติฐานไว้ โดยพบว่าอารมณ์ของกลุ่มตัวอย่างสามารถแบ่งเป็น 3 มิติ และเแบ่งออกได้เป็นอารมณ์ทั้งหมด 12 รูปแบบ และยังพบด้วยว่าแต่ละบุคคลมีแนวโน้มที่จะแสดงออกอารมณ์อารมณ์หนึ่งเป็นหลักเพียงแบเดียวเท่านั้น เช่น บางบุคคลมีแนวโน้มที่จะมองโลกในแง่ดี มีอารมณ์ทางบวก และวางใจในอนาคตของตนเอง ขณะที่บางคนมีความกังวลและระแวดระวังกับอนาคตของตนตลอดเวลา รูปแบบหลักด้านอารมณ์ 1 ใน 12 รูปแบบของแต่ละคนสามารถกล่าวได้ว่าเป็นบุคลิกภาพทางอารมณ์ของบุคคลก็เป็นไปได้
งานวิจัยยังได้เปิดเผยผลเพิ่มเติมด้วยการสอบถามกลุ่มตัวอย่างว่า การแสดงออกทางอารมณ์อารมณ์เหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับพฤติกรรมของมนุษย์ในรูปแบบอื่นมากน้อยเพียงใด ผลการสอบถามพบว่ามีเพียงมิติด้านความรู้สึกทางบวกและทางลบ (Valence) เท่านั้น ที่มีผลต่อตัวแปรพฤติกรรมของมนุษย์ด้านอื่น เช่น บุคคลที่มีบุคลิกภาพรับผิดชอบมีแนวโน้มที่จะแสดงออกอารมณ์ทางบวกมากกว่าและแสดงอารมณ์ทางลบน้อยกว่า ในขณะที่บุคคลที่รู้สึกว่าสามารถควบคุมผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตได้มีแนวโน้มที่จะแสดงออกอารมณ์ทางบวกมากกว่าและอารมณ์ทางลบน้อยกว่า สุดท้ายบุคคลที่มักแสดงออกอารมณ์ทางลบมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาด้านสุขภาพมากกว่าบุคคลที่แสดงออกอารมณ์ทางบวกสม่ำเสมอ อย่างไรก้ตามนักจิตวิทยายังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมว่ามิติด้านความตื่นตัวมีผลต่อตัวแปรอื่นด้านพฤติกรรมอย่างไรบ้าง และจุดมุ่งหมายของการแสดงออกทางอารมณ์ที่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ขณะปัจจุบัน ในอดีต และที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตมีผลอย่างไรบ้างต่อพฤติกรรมของมนุษย์
ถึงแม้ว่าการแบ่งรูปแบบอารมณ์เป็น 12 รูปแบบนี้ยังไม่สามารถแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนนักว่ามีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับกับพฤติกรรมของบุคคลทั่วไปอย่างไร เช่น บุคคลที่มีความกังวลสูงกว่าความสิ้นหวังจะมีรูปแบบพฤติกรรมเป็นอย่างไร บุคคลที่มีความรู้สึกผิดสูงกว่าความเศร้าจะมีรูปแบบทางอารมณ์เป็นอย่างไร บุคคลที่นิ่งเฉยสบาย ๆ มีแนวโน้มพฤติกรรมเป็นอย่างไร ท้ายที่สุดการแบ่งอารมณ์ออกเป็นทั้งหมด 12 รูปแบบนี้ทำหน้าที่เป็นกรอบในการศึกษาวิจัยทางจิตวิทยาของอารมณ์มนุษย์ที่มีความชัดเจนที่ค่อนข้างสูงและมีหลักฐานรับรอง งานวิจัยนี้จึงอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจของการศึกษาหรือทฤษฎีทางด้านอารมณ์ใหม่ๆ ในอนาคต