การมีสติกับการทำงาน
3 ตุลาคม 2566 - เวลาอ่าน 1 นาทีการตระหนัก จดจ่อ และยอมรับ ส่งผลดีต่องานที่ทำ
แนวคิดเกี่ยวกับสติเป็นเป็นสิ่งที่พุทธศาสนิกชนมักจะได้ยินอยู่เป็นประจำทั้งในบริบทของการเรียนรู้และฝึกฝนทางศาสนาหรือแม้กระทั่งการใช้ชีวิตประจำวัน โดยในความหมายแล้ว สติ หมายถึง การที่บุคคลสามารถรับรู้ภาวะภายในตนที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ ณ ขณะปัจจุบัน และยังรวมถึงการรับรู้โดยไม่มีความคิดอื่นแทรกซ้อนสภาวะดังกล่าว
ถึงแม้ว่าการศึกษาทางจิตวิทยาโดยทั่วไปมักจะพยายามแยกความเชื่อทางศาสนาออกจากความรู้ทางจิตวิทยาอันเนื่องมาจากบริบททางศาสนาที่รับผลมาจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมอีกทอดหนึ่ง แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาการศึกษาทางจิตวิทยาและพุทธศาสนาได้มาบรรจบกันในการศึกษาวิจัยในประเทศทางตะวันตก คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่ใช้โดยมีความหมายใกล้เคียงมากที่สุดคือว่า Mindfulness
ด้วยวิธีการศึกษาด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สนับสนุนจำนวนมาก พบว่าการที่บุคคลหนึ่งคนมีสติรู้ตัวนำไปสู่การมีความสุขและสุขภาพจิตทางบวกภายในบุคคล นอกจากผลของการมีสติที่เกิดขึ้นกับความสุขแล้วสติยังส่งผลในด้านทำงานด้วย ยกตัวอย่าง นำไปสู่ความเหนื่อยล้าระหว่างการที่ต่ำลง มีอารมณ์ทางบวกสูงขึ้น อารมณ์ทางลบน้อยลง พึงพอใจในการทำงานมากขึ้น และยังมีความผูกพันในที่ทำงานมากขึ้น และมีผลเล็กน้อยต่อผลการปฏิบัติงานที่ดีขึ้นด้วย
การมีสติในบริบทของการทำงานที่เพิ่มเข้ามานอกเหนือจากการมีสติโดยทั่วไป ได้รับการศึกษาโดยนักวิจัยด้านสุขภาวะองค์กรชื่อว่า Zheng และคณะในปี 2565 โดยพบว่าการมีสติระหว่างการทำงานจะสามารถแบ่งแยกย่อยออกเป็น 3 รูปแบบ
อันดับแรกคือการตระหนักรู้ (Awareness) ที่บุคลากรมีทักษะในการเข้าใจประสบการณ์ที่เกิดขึ้นภายในตนเอง มีการรับรู้อารมณ์ ท่าทางของร่างกาย และสิ่งแวดล้อมภายนอก ทั้งเพื่อนร่วมงาน หรือสิ่งแวดล้อมอื่นรอบตัว เช่น ตระหนักรู้ว่า ณ ปัจจุบันกำลังทำอะไรอยู่ รู้ว่าอารมณ์ของตนเองเป็นอย่างไร รู้ว่าบรรยากาศในที่ทำงานเป็นอย่างไร รู้เมื่ออารมณ์ตัวเองเปลี่ยนแปลง อารมณ์คนอื่นเปลี่ยนแปลง
อันดับที่สองคือความจดจ่อ ที่พนักงานสามารถจดจ่อต่อสภาวะปัจจุบันระหว่างการทำงาน สามารถแยกแยะภาวะแทรกแซงต่าง ๆ แล้วมาอยู่กับปัจจุบันได้ ในอีกควาหมายหนึ่งของความจดจ่อนี้เหมือนกับการมีสมาธิ ซึ่งแตกต่างกับแนวคิดของการเจริญสติที่จะเน้นการรับรู้ภาวะของจิตใจที่มีสิ่งแทรกแซง เข้าใจ แล้วกลับมาอยู่กับปัจจุบัน
ส่วนอันดับที่สุดท้ายคือการยอมรับ ที่บุคลากรยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งภาวะในใจและสิ่งรอบตัวภายนอก รู้ว่าสิ่งใดเกิดขึ้น เปิดกว้างยอมรับ และอยู่กับสิ่งเหล่านั้นได้ เช่น เมื่อพนักงานรู้ว่าเกิดความผิดพลาดในงานที่กำลังทำ ยอมรับว่ามีข้อผิดพลาดเหล่านั้น หรือหากเจอความคิดเห็นที่แตกต่างจากผู้อื่น ก็ยอมรับความคิดเห็นเหล่านั้น
การมีสติยังเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อการทำงานและสามารถฝึกฝนได้แตกต่างจากบุคลิกภาพ เนื่องจากสติไม่ใช่นิสัยที่เป็นสิ่งถาวร แต่การมีสติยังสามารถฝึกฝนให้เป็นทักษะได้ หนึ่งในนั้นคือวิธีการทางพุทธศาสนา เช่น การฝึกเจริญสติ รับรู้สภาวะรอบตัว สภาวะทางกาย สภาวะอารมณ์ของตนเอง และที่สำคัญคือการมีใส่ความคิดที่ตัดสินว่าสภาวะที่เกิดขึ้นดีหรือไม่ดีเข้าไปแทรกแซงการรับรู้ ซึ่งการฝึกเจริญสตินี้ได้รับการสนับสนุนด้วยหลักฐานทางการวิจัยว่าส่งผลทางบวกในหลาย ๆ ด้าน
จากการวิจัยทั้งหลายที่ชี้ให้เห็นว่าการมีสติส่งผลต่อการประสิทธิภาพการทำงาน จึงสรุปได้ว่าในองค์กรโดยเฉพาะงานด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลควรที่จะเริ่มต้นจากการฝึกฝนเรื่องการมีสติในบุคลากร สติเป็นสิ่งที่สามารถฝึกฝนได้ ทั้งการฝึกฝนที่ด้วยวิธีการทางพุทธศาสนา หรือวิธีการฝึกฝนทางจิตวิทยา และที่สำคัญควรที่จะเลือกคอร์สฝึกสติที่มุ่งเน้นที่คุณภาพของการฝึกฝนโดยมีผลการวิจัยที่รองรับว่าทำให้เกิดการเจริญสติได้อย่างมีนัยสำคัญ เพื่อให้เกิดผลดีที่สุดกับบุคลากร และนอกจากนี้ยังอาจพิจารณาเลือกคอร์สที่สามารถทำได้อย่างง่ายในสถานที่ทำงานด้วยเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพนักงานและสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี