การประเมินทางจิตวิทยา
27 ตุลาคม 2566 - เวลาอ่าน 1 นาทีเพื่อการทำความเข้าใจบุคคลและคัดเลือกบุคลากรอย่างแม่นยำ
การที่จะทำความเข้าใจและรู้จักกับบุคคลหนึ่งคนนั้นต้องอาศัยเวลาในการศึกษาและสังเกตผ่านการใช้ชีวิตหรือการทำงานร่วมกัน การสังเกตจะช่วยให้รู้ถึงความรับผิดชอบ ความน่าไว้วางใจ หรือแม้กระทั่งความเข้ากันกับในเรื่อการทำงานหรือตำแหน่งงาน หรือการทำงานเป็นทีม เรื่องเหล่านี้ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ภายในบุคคลสามารถวัดและประเมินผลได้ด้วยเครื่องมือประเมินทางจิตวิทยา
ในขณะที่ขั้นตอนการเลือกบุคคลเข้าทำงานนั้นมีระยะเวลาเพียงสั้น ๆ ในการทำความรู้จักบุคคลหนึ่ง การคัดเลือกบุคคลที่ไม่ตรงกับความต้องการอาจสร้างความเสียหายให้กับองค์กรได้โดยอาจพลาดโอกาสได้รับบุคลากรที่มีความเหมาะสมกับตำแหน่ง
บางกรณีที่การทำความรู้จักบุคคลเชิงลึกด้วยระยะเวลาที่ไม่นานและใช้ข้อมูลไม่มากในการตัดสินคนแบบคร่าว ๆ จึงเป็นวิธีที่นิยมกว่าอย่างเช่น การดูโหงวเฮ้ง การดูดวง แม้กระทั่งการอ่านหรือสแกนลายนิ้วมือ ซึ่งพบว่ามีการใช้วิธีการเหล่านี้ในการคัดเลือกบุคลากรเพื่อเข้าทำงานในระดับสูงเช่นกัน
การใช้แบบทดสอบทางจิตวิทยานั้นมีความโดดเด่นกว่าโหวงเฮ้ง ดูดวง หรือลายมืออย่างไร
โดยทั่วไป แบบทดสอบทางจิตวิทยา มีวิธีการที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการใช้แบบสอบถาม การสัมภาษณ์ หรือแม้กระทั่งวัดคลื่นสมอง แต่หนึ่งในวิธีที่นิยมมากที่สุดคือการใช้แบบประเมินซึ่งเป็นการสร้างข้อสอบ ด้วยชุดคำถาม โดยนำคำตอบที่ได้จากผู้สมัคร มาประเมินเป็นคะแนน และเทียบคะแนนว่าสามารถทำนายผลลัพธ์ที่ต้องการได้มากน้อยเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นผลการปฏิบัติงาน พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการทำงาน อายุงาน เป็นต้น
สิ่งที่ทำให้แบบทดสอบทางจิตวิทยามีความแม่นยำคือการใช้ตัวเลขและหลักฐานเชิงสถิติเพื่อพิสูจน์ว่าผลการประเมินสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่ และมีการทดสอบอย่างเป็นระบบหรือไม่ อย่างเช่น การทดสอบความตรง (Validation) ว่าคำถามสามารถวัดสิ่งที่ต้องการวัดจริงหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นอื่น ๆ นอกเหนือจากนั้น หรือการวัดความเที่ยง (Reliability) ว่าคำถามเมื่อไปวัดบุคคลเดิมซ้ำแล้วจะได้ผลไม่แตกต่างออกไป
อย่างไรก็ตามแบบทดสอบทางจิตวิทยาก็ยังจะมีข้อควรระวังในการใช้งาน อย่างเช่น เรื่องของการตีความ เนื่องจากแบบทดสอบทางจิตวิทยามีการให้ความสำคัญเรื่องของความตรงดังนั้นผลที่ได้รับจะมีความจำเพาะที่สูงต่อคุณลักษณะใด้ลักษณะหนึ่ง จึงมีการตีความได้ค่อนเฉพาะเจาะจงไม่กว้างขวางจนเกินไป ตัวอย่างเช่น แบบทดสอบบุคลิกภาพจะมีการแบ่งเป็นด้านต่าง ๆ แบบทดสอบจากงานวิจัยบางชิ้นอาจใช้การแบ่งบุคลิกภาพออกเป็น 5 ด้าน การตีความผลจึงจำเพาะอยู่ใน 5 ด้านดังกล่าว แต่ด้วยความตรงและเฉพาะเจาะจงจึงสามารถใช้เปรียบเทียบระหว่างผู้รับการทดสอบหลายคนได้ว่าผู้รับการทดสอบแต่ละคนมีบุคลิกภาพด้านหนึ่งสูงหรือต่ำกว่าผู้รับการทดสอบอีกคนหนึ่ง
อีกข้อควรระวังคือการสร้างภาพลักษณ์ที่ดูดีของผู้รับการทดสอบ ผู้ตอบแบบทดสอบในหลายครั้งใช้วิธีหลีกเลี่ยงที่ไม่ตอบอย่างตรงความเป็นจริงเพื่อให้ผลคะแนนออกมาตรงตามความต้องการของผู้คัดเลือก เพื่อเป็นการป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าวจึงมีการใช้วิธีการที่หลากหลาย ได้แก่ การใช้รูปแบบการทดสอบที่ไม่มีคำตอบที่ถูกต้อง 100% แต่เป็นการตอบตามวิธีการคิดของผู้เข้ารับการทดสอบ อย่างเช่น การจำลองสถานการณ์และมีตัเลือกเป้นพฤติกรรมที่สามารถเกิดขึ้นได้จริงในชีวิตประจำวัน
และอีกวิธีการหนึ่งมีความตรงไปตรงมากคือการแทรกแบบตรวจสอบแนวโน้มว่าจะตอบเพื่อรักษาภาพลักษณ์ในแบบทดสอบทางจิตวิทยาอื่น ๆ โดยคะแนนจะบอกได้ว่าผู้เข้ารับการทดสอบมีแนวโน้มที่จะตอบไม่ตรงกับความเป็นจริง เพื่อให้ผู้ประเมินสามารถเลือกใช้ผลการทดสอบได้อย่างระมัดระวังมากยิ่งขึ้น
โดยสรุป แบบทดสอบทางจิตวิทยาได้รับการนำมาใช้เนื่องจากความเที่ยงตรงและรัดกุมในการตีความหมายซึ่งมีหลักฐานมาสนับสนุนจากการวิจัย และยังเพิ่มการป้องกันการตอบไม่ตรงตามวามเป็นจริงอีกด้วย ด้วยคุณสมบัติที่กล่าวมานี้จึงทำให้ผู้ที่นำผลการทดสอบไปใช้สามารถมั่นใจได้ว่าผลการทดสอบจะมีความแม่นยำและน่าเชื่อถือและสามารถใช้ประโยชน์ได้ตรงกับจุดประสงค์ของการทดสอบ