Mind Analytica

การรับรู้ความสามารถของตน

29 พฤษภาคม 2567 - เวลาอ่าน 2 นาที
การรับรู้ความสามารถของตน

ส่งผลอย่างไรต่อประสิทธิภาพและความพึงพอใจในการทำงาน

ในการทำงานด้านทรัพยากรมนุษย์ องค์กรจำนวนมากพยายามที่จะค้นหาว่าปัจจัยอะไรที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรรวมถึงความพึงพอใจในการทำงาน ตัวแปรที่มักจะได้รับการนำไปศึกษา อย่างเช่น เชาวน์ปัญญา บุคลิกภาพ ประสบการณ์ทำงาน อายุงาน และอื่น ๆ สิ่งเหล่านี้มีผลต่อทั้งผลการปฏิบัติงานและความพึงพอใจในการทำงานจริง แต่อีกตัวแปรหนึ่งที่นักวิจัยค้นพบว่าส่งผลต่อผลการปฏิบัติงานและความพึงพอใจในงานอย่างเด่นชัดและคงที่ คือ การรับรู้ความสามารถของตน

การรับรู้ความสามารถของตน (Self-efficacy) คือการที่บุคคลตัดสินว่าตนเองสามารถทำอะไรบางอย่าง ในสถานการณ์หนึ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ความรับรู้และความคาดหวังต่อพฤติกรรมของตน เป็นตัวกำหนดว่าบุคคลคาดหวังที่จะเกิดความผิดพลาดหรือไม่ ถ้าเกิดจะใช้วิธีการรับมือต่อความผิดพลาดในพฤติกรรมอย่างไร จะกำหนดว่าบุคคลจะใส่ความพยายามลงไปในงานมากน้อยเพียงใด และระยะเวลามากน้อยเพียงใดที่จะรักษาความพยายามเอาไว้ถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยบางอย่างที่ไม่เอื้ออำนวย 

บุคคลที่มีระดับการรับรู้ความสามารถของตนที่สูงจะใช้ความพยายามที่มากพอ บวกกับการลงมือที่เหมาะสมนำมาสู่ผลลัพธ์ที่ประสบความสำเร็จ ในขณะที่บุคคลที่มีระดับการรับรู้ความสามารถของตนที่ต่ำมีแนวโน้มที่จะยุติความพยายามอย่างรวดเร็วและงานที่ทำไม่ประสบความสำเร็จ

มีหลักฐานจากงานวิจัยจำนวนมากบ่งบอกว่าการรับรู้ความสามารถของตนมีความสัมพันธ์กับประสิทธิภาพในการทำงานในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การปรับตัวในการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง การรับมือกับเหตุการณ์ระหว่างการทำงาน การเสนอไอเดียในระดับผู้จัดการ ประสิทธิภาพในการจัดการ การเรียนรู้ทักษะใหม่ การปรับตัวของพนักงานใหม่เข้ากับองค์กร

ผลจากการวิจัยทั้งหมดที่กล่าวมายังได้รับการสนับสนุนด้วยวิธีวิเคราะห์อภิมาน (Meta-analysis) ของนักวิจัยชื่อว่า Stajkovic และ Luthans เมื่อปีค.ศ. 1998 จากการนำงานวิจัยจำนวนมากที่ศึกษาความสัมพันธ์ของการรับรู้ความสามารถของตนต่อประสิทธิภาพการทำงานพบว่าการที่บุคลากรในบริษัทมีระดับการรับรู้ความสามารถของตนสูง จะมีแนวโน้มมีประสิทธิภาพในการทำงานดี โดยความสัมพันธ์นี้จะพบในงานที่มีความซับซ้อนสูง มากกว่างานซับซ้อนต่ำ ยิ่งงานซับซ้อนสูง บุคคลต้องมีความมั่นใจถึงจะทำให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สำหรับงานซับซ้อนต่ำ บุคคลไม่จำเป็นต้องมั่นใจ หรือใช้ความพยายาม ประสิทธิภาพก็ออกมาใกล้เคียงกัน

นอกจากผลที่มีนัยสำคัญของความสัมพันธ์ของการรับรู้ความสามารถของตนต่อประสิทธิภาพในการทำงานแล้ว จากการวิจัยของ Judge และ Bono ในปี 2001 ยังพบอีกว่าการรับรู้ความสามารถของตนยังส่งผลต่อความพึงพอใจในการทำงาน (Job satisfaction; Judge และ Bono,  2001) การรับรู้ความสามารถของตนสามารถนำไปสู่การมีความพึงพอใจในงานที่ทำนั้นเป็นเพราะว่าการรับรู้ความสามารถของตนช่วยเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการทำงานได้ (Gkolia และคณะ, 2014) เนื่องจากการรับรู้ความสามารถของตนนั้นทำให้บุคคลรับรู้ว่างานที่ตนกำลังทำนั้นมีคุณค่าและท้าทาย และยังทำให้บุคลากรมีส่วนร่วมในการเป็นผู้ออกแบบงาน (Work design) ที่ตนเองจะทำด้วยตนเอง ความรู้สึกว่างานมีคุณค่า และตนเองสามารถจัดกระทำงานที่มีอยู่ในมือได้ จะนำไปสู่ความพึงพอใจในงานได้ในท้ายที่สุด (Bargsted และคณะ, 2019)

โดยสรุปแล้วการรับรู้ความสามารถของตนเองคือการที่บุคลากรสามารถทำความเข้าใจถึงความสามารถของตนต่องาน ๆ หนึ่ง โดยบุคลากรที่มีการรับรู้ความสามารถของตนสามารถนำไปสู่ประสิทธิภาพในการทำงานที่ดี เมื่อบุคลากรเป็นผู้ที่มีการรับรู้ความสามารถของตนในระดับที่สูงจะเป็นผู้ที่ลงมือออกแบบงานที่เหมาะสมกับตนเองทั้งในด้านเนื้องานด้านสังคมซึ่งทำให้ตนมีประสบการณ์ในการทำงานที่ดีและมีความพึงพอใจในการทำงานในท้ายที่สุด

อ้างอิง

Bargsted, M., Ramírez-Vielma, R., & Yeves, J. (2019). Professional self-efficacy and job satisfaction: The mediator role of work design. Revista de Psicología del Trabajo y de las Organizaciones, 35(3), 157-163.

Gkolia, A., Belias, D., & Koustelios, A. (2014). Teacher's job satisfaction and selfefficacy: A review. European Scientific Journal, 10(22).

Judge, T. A., & Bono, J. E. (2001). Relationship of core self-evaluations traits—self-esteem, generalized self-efficacy, locus of control, and emotional stability—with job satisfaction and job performance: A meta-analysis. Journal of applied Psychology, 86(1), 80.

Stajkovic, A. D., & Luthans, F. (1998). Self-efficacy and work-related performance: A meta-analysis. Psychological bulletin, 124(2), 240.

ผู้เขียน

MindAnalytica Team

MindAnalytica Team

เรื่องที่คุณอาจสนใจ