Mind Analytica

ใช้เวลากดดันไม่ให้ผัดวันประกันพรุ่งอาจดีไม่เท่าใช้อารมณ์ทางบวกและความแข็งขันในการเริ่มทำงาน

24 พฤษภาคม 2566 - เวลาอ่าน 1 นาที
ใช้เวลากดดันไม่ให้ผัดวันประกันพรุ่งอาจดีไม่เท่าใช้อารมณ์ทางบวกและความแข็งขันในการเริ่มทำงาน

มนุษย์ทุกคนมีความตั้งใจในการเริ่มทำอะไรบางอย่าง ในทางตรงกันข้ามหากความตั้งใจนั้นไม่สามารถแปรเปลี่ยนให้เป็นการกระทำได้ สิ่งนั้นคือการผัดวันประกันพรุ่ง ตัวอย่างใกล้ตัว เช่น ความตั้งใจที่จะทำความสะอาดห้อง แต่เมื่อเวลาผ่านไปยังไม่ได้เริ่มทำ การผัดผ่อนไปเรื่อย ๆ หรือการผัดวันประกันพรุ่งเรื้อรังย่อมทำให้เหลือเวลาในจัดการงานนั้นให้สำเร็จน้อยลง ส่งผลให้คุณภาพงานอาจด้อยลงเนื่องจากความเร่งรีบ นอกจากนี้ ยิ่งเวลาน้อย ยิ่งกดดัน อาจส่งผลให้เกิดการตัดสินใจในรูปแบบที่เสี่ยงมากขึ้น และอาจนำไปสู่ความผิดพลาด การผัดวันประกันพรุ่งสามารถจัดการได้อย่างไร

จากบทความในวารสาร Journal of Business and Psychology ปี 2563 นักวิจัยกลุ่มหนึ่งเก็บข้อมูลจากประชาชนวัยทำงานชาวเยอรมันสองกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 262 คน โดยให้กลุ่มตัวอย่างรายงานความคิดผัดวันประกันพรุ่งของตนเองในช่วงก่อนนอน และถามเพิ่มเติมถึงความรู้สึกกดดันทางด้านเวลาหรือไม่ ผู้ร่วมการสำรวจแต่ละคนเข้าร่วมการตอบแบบสอบถามต่อเนื่องกันระยะเวลา 3 ถึง 5 วัน ข้อมูลนี้ได้นำมาวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงระดับความกดดันทางด้านเวลาที่เปลี่ยนแปลงในแต่วัน ที่ส่งผลต่อความคิดผัดวันประกันพรุ่งหรือไม่  

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ภายในแต่ละคน วันใดที่รู้สึกถึงความกดดันด้านเวลามากขึ้น วันนั้นจะมีความคิดผัดวันประกันพรุ่งน้อยลง แต่หากวันใดไม่มีความกดดันด้านเวลา วันนั้นจะมีความคิดผัดวันมากขึ้น นอกจากนี้สิ่งที่พบเพิ่มเติม คือ ภายในคนที่มีอารมณ์ทางบวกและมีความแข็งขันในการทำงาน ความรู้สึกกดดันด้านเวลาจะไม่มีผลต่อความคิดผัดวันประกันพรุ่ง กล่าวคือ ไม่ว่าวันที่รู้สึกกดดันด้านเวลามากหรือน้อย บุคคลกลุ่มนี้มักจะไม่ผัดวันประกันพรุ่งเป็นปกติ แต่สำหรับบุคคลที่ไม่มีความแข็งขันในด้านการงาน แรงกดดันด้านเวลาเป็นแรงกระตุ้นที่ชัดเจน ส่งผลให้เริ่มทำงานเฉพาะเมื่อใกล้ถึงกำหนดส่งงานเท่านั้น

สิ่งที่น่าสังเกตข้อที่หนึ่ง คือ แรงกดดันด้านเวลาส่งผลต่อการผัดวันประกันพรุ่งภายในบุคคลเท่านั้น หมายความว่า วันใดที่รู้สึกกดดันมากกว่าปกติ จึงตัดสินใจทำงานในวันนั้น ในบางบุคคลอาจไม่เคยถูกกดดันเลย เมื่อได้รับความกดดันดันเล็กน้อยจึงเลิกการผัดวันประกันพรุ่งในทันที

แต่บางบุคคลอาจได้รับความกดดันตลอดเวลา เมื่อได้รับการกดดันมากกว่าปกติจึงจะเริ่มทำงาน แต่ถ้าวันใดกดดันน้อยกว่าปกติ (แต่ยังนับว่าได้รับความกดดันมากเมื่อเทียบกับบุคคลอื่น) วันนั้นจึงเลื่อนการทำงานที่ต้องทำออกไป

ข้อสังเกตข้อที่สอง ระดับความกดดันที่เจอใน “ทุกวัน” ไม่ได้ส่งผลต่อนิสัยผัดวันประกันพรุ่ง บุคคลที่ต้องทำงานภายใต้แรงกดดันตลอดเวลาในทุกวันกับบุคคลที่ทำงานโดยไม่ได้รับการกดดันด้านเวลาในทุกวัน กลับมีนิสัยผัดวันประกันพรุ่งไม่แตกต่างกัน เฉพาะเวลาที่บุคคลได้รับความรู้สึกกดดันมากกว่าปกติ จึงจะหยุดการผัดวันประกันพรุ่งและเริ่มทำงาน 

แนวคิดที่อธิบายปรากฎการณ์นี้ สามารถมองได้ผ่านสองมุมมอง มุมมองแรก คือ คนที่แข็งขันในงาน คนที่มีอารมณ์ทางบวก ส่งผลต่อการหยุดทำงานน้อยลง ทำให้มักจะไม่มีความคิดผัดวันประกันพรุ่ง ในทางตรงกันข้ามคนที่มีความแข็งขันน้อย ยิ่งใกล้เส้นตาย ยิ่งจะเห็นว่างานยังไม่เสร็จ และยังไม่ได้ตามเป้าที่คาดหวัง เริ่มเกิดความจำเป็นที่ต้องทำทันที มิเช่นนั้นจะไม่ได้ตามเป้าที่คาดหวัง

ในมุมมองที่สอง คือ บุคคลจะเริ่มทำงานเมื่อรู้สึกว่าได้รับรางวัล หรือหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ บุคคลที่แข็งขันในงานมีความริเริ่มในการทำงานเป็นปกติเพราะตนเองรู้สึกเหมือนได้รับรางวัลตลอดเวลาที่ทำงาน ในขณะที่บุคคลที่ไม่แข็งขัน จะเริ่มทำงานเมื่อใกล้กำหนดส่ง เพราะต้องอาศัยความใกล้ถึงกำหนดที่จะได้รับรางวัลจากงาน หรือใกล้เวลาที่จะได้รับการลงโทษหากงานไม่เสร็จตามเวลา กล่าวคือบุคคลจะเริ่มทำงานก็ต่อเมื่อเกิดแรงจูงใจ ณ ขณะนั้น เท่านั้น

การนำไปใช้เชิงปฏิบัติ อันดับแรก หากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เวลากดดันให้บุคคลอื่นไม่ผัดวันประกันพรุ่ง ควรใช้วิธีการกดดันด้วยเวลามากขึ้นเป็นครั้งคราวดีกว่าการกดดันเท่าเดิมทุกวัน เพราะบุคคลจะเริ่มทำงานเมื่อเห็นความกดดันด้านเวลามากขึ้นเมื่อเทียบกับตอนปกติ เพราะหากกดดันตลอดเวลา จะทำให้เกิดความเคยชิน และการกดดันทางด้านเวลาไม่ได้ผลอีกต่อไป

อันดับที่สอง หากองค์กรต้องการลดการผัดวันประกันพรุ่ง ต้องอาศัยการคัดเลือกบุคคลแข็งขัน มีอารมณ์ทางบวก มีแรงจูงใจในการทำงาน รวมไปถึงการรักษาบรรยากาศที่ดีในการทำงาน ให้พนักงานทำงานตามที่ตนสนใจ หรือเลือกพนักงานที่มีแนวโน้มมีอารมณ์ทางบวก และแข็งขันในงานตั้งแต่ต้น

อันดับที่สาม หากต้องการให้ตนเองไม่เป็นคนผัดวันประกันพรุ่ง ควรจัดการให้ตนเองมีอารมณ์ทางบวก มีความแข็งขันตลอด เช่น การจัดการเวลาเข้านอนอย่างมีคุณภาพ การเลือกบรรยากาศการทำงานที่ดีให้กับตนเอง มีการพักผ่อนจากงานที่เพียงพอ รวมไปถึงการเลือกงานที่ตนสนใจ

บริการจาก MindAnalytica เนื่องจากองค์กรไม่สามารถไปกดดันทางด้านเวลาได้ตลอดเวลา เพราะไม่ได้ส่งผลให้การผัดวันประกันพรุ่งน้อยลง ซ้ำร้ายอาจทำให้อารมณ์ทางบวกน้อยลง และทำให้การผัดวันประกันพรุ่งเพิ่มขึ้นเสียด้วย องค์กรควรคัดเลือกพนักงานที่มีบุคลิกภาพแข็งขันในงาน มีอารมณ์ทางบวกในการทำงาน มองโลกในแง่ดี มีอารมณ์มั่นคง พวกเรามีแบบทดสอบบุคลิกภาพที่ช่วยให้ท่านคัดเลือกพนักงานที่มีบุคลิกภาพเหล่านี้ได้ ส่งผลให้การผัดวันประกันพรุ่งน้อยลง และส่งผลให้คุณภาพของชิ้นงาน คุณภาพของการตัดสินใจดียิ่งขึ้น

ผู้เขียน

MindAnalytica Team

MindAnalytica Team

เรื่องที่คุณอาจสนใจ